ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 59 โต 2.5%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 59 โต 2.5% จากอุปสงค์ภายในเริ่มฟื้น-ปัจจัยกระทบมีผลน้อยลง


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเติบโต 2.5% โดยมีแรงสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายใน ทั้งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีการตั้งงบประมาณลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% จากปี 2558 และการลงทุนของภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวในปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล อาทิ มาตรการเร่งรัดโครงการ PPP และ การเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์จาก BOI เป็นต้น

นอกจากนี้ ด้านการบริโภคยังคงฟื้นตัวช้าโดยมีแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงตกต่ำ อีกทั้ง ยังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่จะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตในปี 2559 และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้การบริโภคในหมวดสินค้าไม่คงทนและความมั่นใจผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น แต่น่าจะมีผลแค่ในระยะสั้น  ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นถึง 9% ซึ่งนำโดยนักท่องเที่ยวจีน

โดยอีไอซีเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้ในปีนี้ แต่ปัจจัยลบจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงมีความเปราะบางสูง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยอาศัยแรงสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้ภาคบริการกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค รวมทั้งจีน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกินและการชะลอตัวของอุปสงค์ในจีน ทำให้การค้าระหว่างประเทศยังคงไม่ดีขึ้น

อีกทั้ง ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงเรื้อรัง ปัจจัยข้างต้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกไทย ทำให้อีไอซีประเมินว่าภาคการส่งออกไทยจะยังคงซบเซาและมีแนวโน้มไม่เติบโตในปี 59

โดยปัจจัยเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเดิมที่มีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ด้วยราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำซึ่งเกิดจากอุปทานส่วนเกินที่ยังคงมีล้นตลาด และการชะลอตัวของการเติบโตของอุปทานจากจีน อีไอซีมองว่าในปี 59 ผลกระทบของปัจจัยดังกล่าวนี้จะมีน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับตัวในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา อีกทั้ง ด้านความเสี่ยงเงินทุนไหลออกซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาจากในปี 58 น่าจะมีจำกัด หากการปรับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและไม่ต่างจากการคาดการณ์ของตลาดมากนัก

ทั้งนี้อีไอซีมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% เพื่อเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาคไปอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 59

Back to top button