เปิดโผ 16 หุ้น mai งบ Q3 พลิกกำไร-ลุ้นผลงานปี 64 “เทิร์นอะราวด์”

เปิดโผ 16 หุ้น mai งบ Q3 พลิกกำไร-ลุ้นผลงานปี 64 “เทิร์นอะราวด์” MORE-TRT-TAPAC-AIRA-UREKA นำทีมเด่นโกยกำไรสูงสุด


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ไตรมาส 3/2564(สิ้นสุด 31 ก.ย.2564) ที่ผ่านมาโดยคัดเลือกบจ.ที่ผลประกอบการพลิกมีกำไรเนื่องจากเป็นการสะท้อนถึงการฟื้นตัวของธุรกิจ

โดยครั้งนี้จะคัดเลือกหุ้นที่มีการพลิกเป็นกำไรสูงสุดเรียงไปหาน้อยสุดมี 16 อันดับ โดยการพลิกเป็นกำไรในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสถัดไปยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง และคาดหนุนผลงานปี 2564 พลิกมีกำไรโดดเด่น ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังกดดันตลาดในขณะนี้

สำหรับหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว  16 อันดับประกอบด้วย MORE,TRT,TAPAC,AIRA,UREKA,PPS,SANKO,ABM, MITSIB,CRD,HPT,SALEE, FVC,GSC,GCAP และCPANELโดยะจะขอนำเสนอข้อมูลประกอบใน 5 อันดับแรกดังนี้

อันดับ 1 บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 89.49 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2563 ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 18.15 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการรวมจำนวน 26.05 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกนของปีก่อนอยู่ที่ 4.89 ล้านบาท

โดย MORE ประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1) ธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (Energy Saving) และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) 2) ธุรกิจวางระบบน้ำประปาเพื่อบริหารจัดการน้ำประปาบนเกาะเสม็ด ซึ่ง 3) ธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

 

อันดับ 2 บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT กลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 61.19 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2563 ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 8.36 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขาย 1,321.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.78 ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้หม้อแปลงไฟฟ้า

โดย TRT ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to Order) เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสามารถผลิตได้ถึงขนาด 300 MVA 230 kV รวมถึงการให้บริการติดตั้ง ซ่อมบำรุง และทดสอบหม้อแปลงไฟฟ้า การผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า

 

อันดับ 3 บริษัท ทาพาโก้ จำกัด (มหาชน)  หรือ TAPAC กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 56.90 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2563 ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 7.84 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการผลิตภัณฑ์พลาสติก,แม่พิมพ์,ธุรกิจค้าปลีก และขายที่ดินโดยบริษัทย่อยประเทศสวีเดน อยู่ที่ 404.60ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 231.20 ล้านบาท

โดย TAPAC ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ โดยมีบริษัทย่อย ทาพาโก้ โมลด์ จำกัด ผลิตแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน นอกจากนี้ ได้มีการขยายการลงทุนไปในธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสวีเดน นอกจากนี้ ยังได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจค้าปลีกเครื่องสำอางและลงทุนในบริษัทอื่นผ่านบริษัทย่อยอีกด้วย

 

อันดับ 4 บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน)  หรือ AIRA กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 37.12  ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2563 ขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 10.54ล้านบาท

ด้านนางนลินี งามเศรษฐมาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIRA เปิดเผยว่า บริษัทคาดผลการดำเนินงานในปี 65 จะเติบโตดีกว่าปีนี้ เป็นไปตามการเติบโตของบริษัทย่อย ซึ่งเป็นจังหวะที่บริษัทจะสามารถเก็บเกี่ยวหรือได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว โดยจะเห็นได้ว่าในปีนี้ 9 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทสามารถทำกำไรได้ แม้ภาพรวมของประเทศจะประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่บริษัทมีแผนนำบริษัทย่อย คือ บมจ. ไอร่า แอนด์ ไอฟุล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท AIFUL Corporation ผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริการบัตรกดเงินสด ‘A money’ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 65 ตามแผน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็วๆ นี้

รวมถึงการนำ บมจ.ไอร่า ลิสซิ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในปี 66 โดยผลการดำเนินงานของ ไอร่า ลิสซิ่ง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับต่ำมาก ราว 0.55% เนื่องจากเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก และยังได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งจาก NEC CAPITAL SOLUTIONS LIMITED บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นที่เข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 20%

นอกจากนี้ บริษัทยังปรับกลยุทธ์การดำเนินงานในส่วนของธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้ ภายใต้ บมจ.ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทร่วมทุนกับ Kenedix Asia Pte,Ltd. ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ชั้นนำจากญี่ปุ่น และ Eugene Investment & Securities Co., Ltd กลุ่มธุรกิจชั้นนำจากเกาหลีใต้ จากเดิมที่มีนโยบายเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่หลังจากเกิดวิกฤติ บริษัทได้มองหาการซื้ออาคารสำเร็จรูปที่มีอายุการใช้งานเหลือเพียงพอ และมีอัตราการเช่า (OCC) อย่างน้อย 60% ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการขออนุมัติจากทางพันธมิตรดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ ยังอยู่ระหว่างการเลือกอาคารอีก 2 แห่งเพื่อเข้าลงทุน โดยจะดำเนินการซื้อ 1 แห่งภายในปีนี้ และอีก 1 แห่งจะซื้อได้ในปี 65 รวมถึงยังมีโครงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทคลังสินค้าให้เช่า (Built to Suit) ด้วย คาดว่าจะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ยังอยู่ระหว่างศึกษาทำ Tokenized REIT หรือ Token REIT เพื่อรองรับกองทุน AIRA REIT และ Token ที่ใช้ในอสังหาริมทรัพย์ (REAL ESTATE TOKENIZATION) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายใน 2 ปีจากนี้ หรือปี 66

ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/64 คาดว่าจะเติบโตทั้งไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรับรู้เงินปันผลระหว่างกาล ปี 64 รวม 108.92 ล้านบาท จากบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง (บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 71.55%) คิดเป็นเงินจำนวน 28.62 ล้านบาท และ บล.ไอร่า (บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.99%) คิดเป็นเงินจำนวน 80.30 ล้านบาท

 

อันดับ 5 บริษัท ยูเรกา ดีไซน์ จำกัด (มหาชน) หรือ UREKA กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 3/2564 มีกำไรสุทธิ 21.50 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2563 ขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 19.49 ล้านบาท

ด้านน.ส.สุนิสา จิระวุฒิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UREKA เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 22.19 ล้านบาท พลิกจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุนเท่ากับ 20.83 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 75.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,550 % จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 4.55 ล้านบาท

กำไรสุทธิที่ปรับตัวขึ้นมาจากบริษัทมีการรับรู้รายได้จากงานโครงการรายได้จากการออกแบบทางวิศวกรรม และรายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักรทางการเกษตร รวมถึงรายได้จากการจำหน่ายกล้อง CCTV ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการปรับกลยุทธ์การจำหน่ายกล้อง CCTV จากเดิม เป็นการจำหน่ายในรูปแบบ BTC อย่างเดียว ต่อไปจะมีการขยายวิธีการจำหน่ายสินค้าเป็นแบบ B2B และ B2G ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กร ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย สนับสนุนความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี จึงมั่นใจว่าแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 แต่ยังสามารถผลักดันการเติบโตต่อไปได้อย่างแน่นอน

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 64 บริษัทคาดว่าจะมีทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน โดยเข้าสู่โหมดการเทิร์นอะราวด์ จากการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัท เอ.พี.ดับเบิลยู. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (A.P.W.) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยจากงบการเงินตรวจสอบงวด 6 เดือน ปี 64 มีรายได้ รวมอยู่ที่ 75.88 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 31.07 ล้านบาท ขณะที่ในงวดไตรมาส 3/64 ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีการอนุมัติให้เข้าลงทุนใน (A.P.W.) ก็จะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของ UREKA มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในอนาคต

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button