TISCO ประเดิมโชว์กำไรปี 64 โต 12% ตามคาด รับรายได้ค่าฟีเพิ่ม-ขาดทุนเครดิตลด

TISCO ประเดิมโชว์กำไรปี 64 โต 12% ตามคาด มาที่ 6.78 พันลบ. จากปีก่อนมีกำไร 6.06 พันลบ. รับรายได้ค่าธรรมเนียม และรับรู้กําไรจากเงินลงทุนเพิ่มขึ้น-สํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง


บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานงวดปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2564 ดังนี้

โดยผลการดำเนินงานงวดปี 2564 มีกำไรเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจตลาดทุน โดยเฉพาะธุรกิจจัดการกองทุน การรับรู้กําไรจากเงินลงทุน และสํารองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ที่ลดลง โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัวร้อยละ 9.7 จากปีก่อนหน้า เป็นรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 ซึ่งมาจากการออกกองทุนใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี ประกอบกับคาธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ที่รับรู้ในไตรมาส 4

อีกทั้ง รายได้ค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ตามปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังรับรู้กำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกําไรหรือขาดทุน (FVTPL) ที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลง ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงจากมาตรการปิดเมืองในระหว่างปีและผลจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การปรับลดเพดานอัตราค่าธรรมเนียมของทางการ

ทั้งนี้บริษัท โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เผยว่าวันที่ 14 ม.ค. 2565 TISCO จะประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 4/2564 คาดกำไรสุทธิที่ 1.69 พันล้านบาท เติบโต 4%  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนจากค่าใช้จ่ายสำรองลดลง และกำไรเติบโต 8% จากไตรมาสก่อนหน้าหนุนจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 115 บาท

โดยหากกำไรไตรมาส 4/2564 เป็นไปตามคาด จะทำให้กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 6.72 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% และยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ที่ 6.85 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% โดยการเติบโตชะลอตัวลง เนื่องจากธนาคารยังคงคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อบางกลุ่ม ประกอบกับคาดต้นทุนทางการเงินลดลงจำกัด และคาด Credit cost ที่ 0.9% ในปี 2565 ลดลงเล็กน้อยจาก 1%  ในปี 2564 คาดธนาคารยังคงต้องการรักษา Coverage Ratio สูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอน

Back to top button