อ่วม! ฝ่ายค้านจัดหนัก “ศักดิ์สยาม” ซุกหุ้น-เอี่ยวสัมปทานรัฐเอื้อพวกพ้อง

กลายเป็นอีกหนึ่งรัฐมนตรี่ถูกพรรคฝ่ายค้านอภิปรายอย่างหนักหน่วง หลังพบ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีพฤติกรรมซุกหุ้นเอี่ยวสัมปทานรัฐ เน้นจัดสรรงบประมาณไปจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของครอบครัว จนงบพัฒนาด้านคมนาคมกระจุกตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติขอเปิดการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ในช่วงค่ำเป็นคิวของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้อภิปรายว่า นายศักดิ์สยาม เคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและโรงโม่หิน โดยถือครองหุ้น 99.99 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะมีการโอนหุ้นให้กับนายเอ (นามสมมุติ) เพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี  ซึ่งตนมองว่าเป็นการแสดงนิติกรรมอำพราง เพราะมีการโอนหุ้นโดยไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีหนังสือรับรองยอดเงินจากธนาคารของบริษัทดังกล่าว และไม่พบว่ามีการชำระเงินระหว่างกัน ไม่มีการเสียภาษีจากการขายหุ้นและผู้รับโอนหุ้น ยังเคยเป็นลูกจ้างในบริษัทดังกล่าว

พ.ต.อ.ทวี ยังอภิปรายว่า หลังจากการโอนหุ้นที่อยู่ของบริษัทดังกล่าวยังใช้บ้านของรัฐมนตรีเป็นที่ตั้ง ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 187 ตามรัฐธรรมนูญ ความเป็นรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง​ เนื่องจากรัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ก่อนที่นายศักดิ์สยามจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บริษัทก็มักจะได้รับสัมปทาน และงานของกระทรวงคมนาคม เมื่อมาดำรงตำแหน่ง​ รมว.คมนาคมปี 2562 -2565 พบว่า บริษัทของนายศักดิ์สยามเดิม ได้งานประมูลต่อเนื่องเป็นมูลค่า 2218.80 ล้านบาท และเชื่อว่ามีการฮั้วประมูล และพบว่างบประมาณกระทรวงคมนาคมของ​ จ.บุรีรัมย์​ สูงขึ้น​ โดยเฉพาะในงบประมาณ 2566 ที่ตั้งงบประมาณสูงถึง 5,973.39 ล้านบาท จนถูกขนานนามว่าเป็น “ชิดชอบบุรี”

พ.ต.อ.ทวี ยังย้ำว่า มีข้อมูลมากพอที่เชื่อได้ว่านายศักดิ์สยาม ถือหุ้นอยู่ โดยจะมีการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในเรื่องนี้​ เมื่อเป็นรัฐมนตรีที่เป็นเจ้าของบริษัทแล้วมาทำสัญญากับรัฐ ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 84 ตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า การเข้าสัมปทานรัฐ รัฐมนตรีจะต้องไม่แทรกแซง หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาด

จึงสรุปได้ว่า นายศักดิ์สยาม ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี เพราะยังคงถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด และนำห้างหุ้นส่วนเข้าทำสัญญากับรัฐ ซึ่งมีความประพฤติไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไร้คุณธรรม จริยธรรม ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ก้าวก่ายแทรกแซงเอื้อพวกพ้องและพรรคการเมืองแสวงหาผลประโยชน์จากหน่วยงานที่ตัวเองกำกับด้วยดูแล ใช้อำนาจเพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องมีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ และไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมจากการฮั้วประมูลงาน และเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170

สอดคล้องกับนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล นายพัฒนา สัพโส ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่ต่างอภิปรายกล่าวหาว่า นายศักดิ์สยาม มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมร้ายแรง จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆของรัฐ อีกทั้งกรณีที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่มีปัญหาการมีเอกสารสิทธิ์ทับซ้อนบนที่ดินรถไฟ การใช้งบประมาณกระทรวงคมนาคมแบบกระจุกตัว

ทั้งนี้ นายปกรณ์วุฒิ อภิปรายน่าสนใจตอนหนึ่ง โดยกล่าวหาว่า นายศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ ทั้งนี้ หจก.บุรีเจริญฯ ก่อตั้งในปี 2539 โดยมีตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของนายศักดิ์สยามในขณะนั้น เมื่อมีตำแหน่งทางการเมืองก็ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก.นี้ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น พอยุค คสช. นายศักดิ์สยามก็กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของหจก.บุรีเจริญ ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาทและย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง

จนเมื่อปี 2561 ที่มีข่าวการเลือกตั้ง นายศักดิ์สยามก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้นอมินีในวันรุ่งขึ้นทันที และย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้ลูกจ้างมาเป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นจริง เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเลย หากมีการซื้อขายกันจริง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายต่ำกว่า สูงกว่าราคาทุนที่ 120 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม หรือผู้ถือหุ้นคนใหม่ ก็จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีหรือหากซื้อขายเท่าราคาทุน นายศักดิ์สยามก็ต้องระบุเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินต่อป.ป.ช. แต่ก็ไม่ปรากฏเงินก้อนนี้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นป.ป.ช. ในปี 2562

ด้านนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ ถึงโครงการ MR-Map หรือ แผนแม่บทยุทธศาสตร์การคมนาคมใหม่ทั้งประเทศ มีทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคิด นายศักดิ์สยาม ทำนั้น เป็นสิ่งดี แต่ปัญหาหลัก คือ ความซ้ำซ้อน เกินจำเป็น ไม่คุ้มค่า และใช้งบประมาณสูงถึง 5.7 ล้านล้านบาท

โดยที่ผ่านมา ตนเคยเรียกเจ้าหน้าที่มาชี้แจงในอนุกรรมาธิการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ตนเป็นประธาน ซึ่งอยากรู้ว่า มีการวาง MR-Map อย่างไร อยากเห็นแบบจำลอง สุดท้ายเจ้าหน้าที่ปิดคอมพ์แล้ววิ่งหนี ทำให้เห็นว่าไม่มีแบบจำลองที่ดี เป็นเรื่องไร้เหตุผล ที่จะทำรางรถไฟจาก 1 ทางเป็น 4 ทาง แล้วทำมอเตอร์เวย์มาวิ่งคู่ขนาน ซึ่งจะไปตัดแย่งลูกค้ากันเอง ควรหาขบวนรถไฟดีๆ มาวิ่ง ไม่ใช่หาเรื่องผลาญไปกับการสร้างราง  เห็นได้จากโครงการที่เป็นการก่อสร้างทั้งระบบรถไฟทางคู่ 6,241 กิโลเมตร (กม.) มอเตอร์เวย์ 6,701 กม. และรถไฟความเร็วสูง 2,728 กม. อยู่บนเส้นทางเดียวกัน ที่จะทำให้เกิดการตัดผู้ใช้กันเอง และจะทำให้การใช้งานเป็นไปโดยไม่เต็มประสิทธิภาพในทุกระบบและทุกเส้นทาง

การก่อสร้างในลักษณะนี้จะทำให้เกิดความไม่คุ้มทุน กลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างเมืองที่มากเกินความจำเป็น นำไปสู่ภาระทางการคลังและงบประมาณที่จะบานปลาย ทั้งระหว่างการก่อสร้างจริง และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษา และยังมีแนวโน้มที่จะเจอกับ “โรคเลื่อน” เหมือนอย่าง corridor โคราช ที่รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และทางรถไฟความเร็วสูง ไม่มีอะไรก่อสร้างได้แล้วเสร็จอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้เลยแม้แต่อย่างเดียว ซึ่งในที่สุด ภาระทั้งหมดนี้ ก็จะไปตกอยู่ที่ประชาชน ทั้งในรูปแบบของเงินภาษี และค่าโดยสารที่จะแพงอย่างมหาศาลเพื่อชดเชยการใช้งานที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะการที่ไม่มีเอกชนไหนจะกล้าพอเอาเงินจำนวนมหาศาลมาลงทุนในโครงการที่มีความไม่คุ้มค่าอย่างเห็นได้ชัดขนาดนี้

นอกจากนี้ ยังมีความไม่ชอบมาพากล ในการคัดเลือกโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่มีศักยภาพ หรือช่วงที่จะมีการก่อสร้างเป็นลำดับต้นๆ โดยหนึ่งในนั้นมีโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ซึ่งมีบุรีรัมย์เป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะมีการสร้างมอเตอร์เวย์ตัดผ่านด้วย นี่คือโครงการที่จะก่อหนี้มหาศาลต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะช่วงต้นของโครงการจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทั้งค่าเวนคืน งานโยธา งานระบบ แล้วต่อมาก็จะมีรายจ่ายเพิ่มในการบริหารจัดการและซ่อมบำรุงรายปี ในที่สุดจะทำให้รายรับจะไม่พอกับรายจ่าย เพราะคนจะใช้ไม่เยอะ ที่จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนก็จะไม่เกิดเพราะเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่า คนที่อนุมัติและผู้รับเหมาที่ได้สัมปทานยิ้ม แต่คนที่เศร้าคือประชาชนผู้ต้องจ่ายภาษี

นายสุรเชษฐ์ ยังเสนอแนะว่า การทำระบบรางควรกระจายโครงการออกไป เลือกพัฒนาระบบอย่างเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ เน้นพัฒนารถไฟทางคู่ให้คลุมทุกพื้นที่มากขึ้น โดยไม่ทำมอเตอร์เวย์มาวิ่งขนานให้แย่งผู้โดยสารกัน และนำงบประมาณที่เหลือไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมือง กระจายงบประมาณให้ส่วนท้องถิ่นไปพัฒนา ไม่ใช่การสร้างแต่เส้นเลือดใหญ่ระหว่างเมืองแบบซ้ำซ้อน อย่างที่ MR-Map จะทำเท่านั้น

ทั้งนี้ในส่วนของนายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม ได้ขอชี้แจงประเด็นการอภิปรายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

Back to top button