สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 ก.ย. 2565

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 ก.ย. 2565


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 400 จุดในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดปริวรรตเงินตราและตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกยังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,225.61 จุด ลดลง 458.13 จุด หรือ -1.54%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,640.47 จุด ลดลง 78.57 จุด หรือ -2.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,737.51 จุด ลดลง 314.13 จุด หรือ -2.84%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นออกมา ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่ระดับสูงและภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 25 ปีในเดือนก.ย. ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ธนาคารกลางจะคุมเข้มนโยบายการเงินเชิงรุกเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ระดับ 382.89 จุด ร่วงลง 6.52 จุด หรือ -1.67%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,676.87 จุด ลดลง 88.14 จุด หรือ -1.53%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 11,975.55 จุด ลดลง 207.73 จุด หรือ -1.71% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,881.59 จุด ลดลง 123.80 จุด หรือ -1.77%

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดร่วงลงในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) เนื่องจากความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบจากแผนการด้านเศรษฐกิจฉบับใหม่ของรัฐบาลอังกฤษนั้นยังคงกดดันตลาด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอังกฤษและค่าเงินปอนด์ดีดตัวขึ้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,881.59 จุด ลดลง 123.80 จุด หรือ -1.77%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) โดยตลาดถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 92 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 81.23 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 83 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 88.49 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาดทองคำ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.4 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,668.6 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 16.8 เซนต์ หรือ 0.89% ปิดที่ 18.712 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 60 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 860.2 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 42 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 2,211.10 ดอลลาร์/ออนซ์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพฤหัสบดี (29 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ

ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.31% แตะที่ระดับ 112.2540

ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 0.9793 ดอลลาร์ จากระดับ 0.9748 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1058 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0903 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.6478 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6526 ดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 144.40 เยน จากระดับ 143.99 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9779 ฟรังก์ จากระดับ 0.9759 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3707 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3616 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button