จับตา 3 เจ้าเคาะเดือดประมูล “ดาวเทียม” 5 ชุด 15 ม.ค.นี้ คาดเงินเข้ารัฐ 800 ล้าน

จับตา 3 บริษัทเอกชน “สเปซ เทค อินโนเวชั่น-NT-พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส” ทุ่มเงินประมูลวงโคจรดาวเทียมเดือด 15 ม.ค. 66 คาดทำเงินเข้ารัฐไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท


การประมูลที่จะจัดโดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ประมูลสิทธิการเข้าใช้งานวงโคจรดาวเทียมของชาติในวันที่ 15 ม.ค. 2566 กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว โดยล่าสุดนั้น  บอร์ด กสทช. ได้มีมติเห็นชอบเรื่องผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับสิทธิในการเข้าใช้ วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (แพคเกจ) จำนวน 3 รายที่เข้ามายืนประมูลคือ 1. บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (บริษัทลูกของไทยคม) 2. บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT และ 3.บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตามระยะเวลา ที่กำหนดในแต่ละรอบ โดยมีเวลาระยะเคาะประมูล 20 นาที ซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด  ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใด ต้องการสิทธิวงโคจรชุดใด และมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด โดยใบอนุญาตมีระยะเวลา 20 ปี

โดยการประมูลวงโคจรดาวเทียมครั้งนี้นำมาประมูล จำนวน 5 ชุด พร้อมกำหนดราคาเริ่มต้นดังนี้

ชุดที่ 1 ได้แก่วงโคจรที่ 50.5E และ 51E ราคาขั้นต่ำที่ 374,156,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 18,700,800 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องขึ้นใช้งานดาวเทียมภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 โดยวงโคจรนี้ครอบคุลมพื้นที่ประเทศอาหรับ

ชุดที่ 2 ได้แก่ วงโคจรที่ 78.5E ราคาขั้นต่ำที่ 360,017,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 18,000,850 บาท โดยครอบคลุมพื้นที่ประเทศพม่า และอินเดีย

ชุดที่ 3 ได้แก่ วงโคจรที่ 119.5E และ 120E ราคาขั้นต่ำที่ 397,532,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 19,876,600 บาท โดยวงโคจรนี้มีความต้องการสูงเพราะเป็นเพียงแพกเกจเดียวที่มีโครงข่ายด้านบรอดแบรนด์

ชุดที่ 4 ได้แก่ วงโคจรที่ 126E ราคาขั้นต่ำที่ 8,644,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 432,200 บาท

ชุดที่ 5 ได้แก่ วงโคจรที่ 142E ราคาขั้นต่ำที่ 189,385,000 บาท และขั้นราคา (ประมูล) 9,469,250 บาท

สำหรับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ ทาง กสทช.ได้อธิบายว่า เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต เนื่องจากมีความโปร่งใส  ขณะเดียวก็คาดว่าจะได้เงินเข้ารัฐอย่างน้อย 800 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พล.อ.ท.ธนพันธุ์ กรรมการ กสทช. ได้ระบุย้ำว่า การประมูลที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาต และเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย หลังจากที่สัมปทานดาวเทียมบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทย ได้สิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมที่มีความก้าวกระโดดทั้งในส่วนของดาวเทียม Broadcast และ Broadband ต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากว่ามีการยกเลิกการประมูลและให้ NT เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจากสหภาพโทรคมนาคม (ITU) ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง และไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย กลับไปสู่การผูกขาด และขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ

Back to top button