THCOM วางเป้ารายได้ปีนี้ทะลุ 3.5 พันล้าน-ยิงดาวเทียมใหม่รุก “ไทย-อินเดีย”

THCOM วางเป้ารายได้ปี 66 ทะลุ 3.5 พันล้านบาท ส่งบริษัท “สเปซ เทค อินโนเวชั่น” ลงทุนดาวเทียม 3 ดวง รุกตลาดลูกค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ไทย-อินเดีย” รองรับดีมานด์พุ่ง


นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ว่าผลประกอบการงวดปี 2565 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 42.21 ล้านบาท ลดลง 70.61% จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 143.64 ล้านบาท และรายได้อื่นอยู่ที่ 49 ล้านบาท ลดลง 33.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 74 ล้านบาท อีกทั้งยังบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของอุปกรณ์ดาวเทียมอยู่ที่ 259 ล้านบาท สืบเนื่องจากแนวโน้มอุตสาหกรรมด้านความต้องการบริการบรอดคาสต์โดยทั่วไปที่ลดลง ประกอบกับความล่าช้าในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมในต่างประเทศจากกระบวนการที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทำให้การขายช่องสัญญาณล่าช้ากว่าแผนธุรกิจเดิม

สำหรับแนวโน้มอนาคตบริษัทมีการขอกรอบการลงทุนของดาวเทียมดวงใหม่ โดยเป็นกรอบการลงทุนดาวเทียม 119.5E เท่านั้น สืบเนื่องจากว่า 78.5E ยังพอมีเวลาในการพัฒนาธุรกิจ โดยการลงทุนครั้งนี้มีกรอบวงเงินการลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15,203 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 102% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกลุ่มไทยคม ดังนั้นต้องให้ทางผู้ถือหุ้นอนุมัติก่อนที่จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ในวันที่ 7 เม.ย.66 ประกอบด้วย (1) ค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก และค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก จำนวนเงินประมาณ 797.43 ล้านบาท

(2) การสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก พร้อมทั้งนำดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเพื่อรักษาสิทธิในการเข้าใช้ รวมตลอดจนถึงการก่อสร้างสถานีควบคุมดาวเทียม (Telemetry, Tracking, Command and Monitoring – TTC&M) สถานีควบคุมการบริหารจัดการดาวเทียม (Traffic Management หรือ Gateway Station) และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในวงเงินประมาณ 433.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,405.21 ล้านบาท

ส่วนการจัดสร้างสถานีควบคุมการบริหารจัดการดาวเทียม (Traffic Management หรือ Gateway Station) รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นวงเงินลงทุนประมาณ 64.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,127 ล้านบาท

โดยในเงื่อนไขของกสทช. กับใบอนุญาตที่บริษัทได้รับมา ซึ่งบริษัทจะต้องมีดาวเทียมของตนเองอยู่ที่ตำแหน่ง 78.5E กับ 119.5E ภายใน 3 ปี ดังนั้นประโยชน์การลงทุนดาวเทียมใหม่ บริษัทมองว่าในเรื่องอนาคต เนื่องจากว่าบริษัท STI ได้ชนะประมูล 2 วงโคจรที่สำคัญมากในวงการดาวเทียม  เพื่อให้การบริการมีความต่อเนื่องและมั่นใจในอนาคตการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับ 78.5E แผนการรับรองของบริษัทอาจจะมีดาวเทียมดวงเล็ก โดยมีเวลาตัดสินใจประมาณ 1 ปี และบริษัทก็จะนำไปให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในการลงทุนที่ตำแหน่ง 78.5E  อีกทั้งบริษัทใช้เงินลงทุน 65-85% ของเงินลงทุน ส่วนที่เหลือไทยคมเป็นผู้จัดหา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้น THCOM

ทั้งนี้ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (STI) เป็นบริษัทย่อยของ THCOM จะมีการลงทุนดาวเทียม 3 ดวง เนื่องจากว่าดาวเทียม Thaicom 4 (IPSTAR) มีลูกค้าหลักที่เป็นลูกค้าบอร์ดแบรนด์ ซึ่งดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวงจะเปิดตัวในบริการสะพานเชื่อมช่องว่างของไทยคม 4 สิ้นสุดการบริการปลายปี 2567 ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องแบ่ง 2 เฟส เพื่อการให้บริการ

โดยดาวเทียมเฟส 2 เป็นดาวเทียมดวงใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถครอบคลุมได้หลายประเทศมาก ซึ่งใช้เวลาในการผลิต 4 ปี ดังนั้นในช่วงเวลา 2-3 ปี ที่อยู่ระหว่าง Thaicom4 หมดอายุ กับการรอดาวเทียมดวงหลักขึ้นสู่วงโคจรในปี 2570 ซึ่งดาวเทียมดวงเล็กสามารถนำขึ้นได้เร็วกว่า จึงเป็นข้อดีสำหรับดาวเทียมที่หมดอายุ โดยบริษัทจะโฟกัสแค่ 2 ประเทศ คือประเทศไทย และ อินเดีย ซึ่งบริษัทมองว่า 2 ประเทศนี้เป็นประเทศที่สามารถสร้างรายได้ ขยายความต้องการจากภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงมีลูกค้าและโอกาสสูงในการขยายฐานลูกค้า เนื่องจากเป็นดาวเทียมดวงเล็กจึงสามารถใช้ได้แค่ 1 ประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ บริษัทมั่นใจดาวเทียมดวงใหญ่หลังจากที่ได้ชนะประมูล ซึ่งบริษัทมีลูกค้าหลักอยู่แล้ว มองว่ามีดีมานด์มากกว่าซัพพลายแน่นอน ส่วนของซัพพลายก็จะมีลักษณะการให้บริการข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

สำหรับแนวโน้มปี 2566 มองว่ารายได้น่าจะปรับตัวใกล้เคียงกับปี 2564 อยู่ที่ 3,505.67 ล้านบาท ซึ่งมาจากความมั่นใจของลูกค้าที่บริษัทมีดาวเทียมดวงใหม่ โดยเฉพาะดาวเทียม IPSTAR ลูกค้ายังใช้ต่อเนื่อง ส่วนอีบิทด้าและมาร์จิ้นมองว่าน่าจะปรับตัวขึ้นมาเช่นกัน ซึ่งบริษัทมีดาวเทียมต่อเนื่องอย่างแน่นอน

X
Back to top button