PJW ประเดิมส่งอุปกรณ์ “การแพทย์พลาสติก” หวังกวาดรายได้ปีแรก 300 ล้าน

PJW สร้าง “New S-Curve” ประเดิมส่งอุปกรณ์การแพทย์พลาสติกตัวแรกขายในประเทศ วางเป้ากวาดรายได้ปีแรก 300 ล้านบาท ก่อนทยอยออกโปรดักส์ใหม่ลุยตลาดอาเซียน-ทวีปออสเตรเลียดันยอดขายโตเท่าตัว


นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW เปิดเผยว่า บริษัทประกาศสร้าง New S-Curve จากกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์พลาสติก เริ่มเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวดอกจากการลงทุน ประเดิมส่งโปรดักส์แรกปลายปีนี้ลุยตลาดในประเทศทดแทนสินค้านำเข้า วางเป้ากวาดรายได้ปีแรก 300 ล้านบาท ก่อนทยอยออกโปรดักส์ใหม่ต่อเนื่องพร้อมส่งลุยตลาดอาเซียน-ทวีปออสเตรเลียดันยอดขายโตเท่าตัว เล็งจับมือพันธมิตรร่างแผนตั้งโรงงานใหม่กลางปีหน้า

“ประเทศไทยเรานำเข้ามากว่า 90% ผลิตในประเทศน้อยมาก ไม่รู้ว่าทำไมคนไทยไม่ยอมทำ แต่เราก็ยอมรับว่ายาก เราทำมา 3 ปีแล้วไม่มียอดขายเลย ใส่พลังงานเยอะมาก ใส่แรงเยอะมาก แต่เรามั่นใจว่าทุกอย่างที่ใส่เข้าไปจะมี return อันนี้เป็นเหตุผลที่หลายคนเข้าไปแล้วไม่ยอมอยู่ต่อ แต่ PJW เรากัดไม่ปล่อย เราสู้ไม่ถอย แต่เราระมัดระวังมาก จะเห็นว่าถึงเรายังไม่มียอดขาย แต่ค่าใช้จ่ายเราน้อยมาก เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่ารายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นรายได้ที่มีภาระน้อยมาก มองเป็น long term” นายวิวรรธน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายวิวรรธน์ กล่าวอีกว่า กลุ่มสินค้าอุปกรณ์การแพทย์ที่ผลิตจากพลาสติกเป็นสิ่งที่บริษัทได้เริ่มต้นมาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว แต่ปีที่แล้วสะดุดไปเพราะปัจจัยภายนอก เริ่มจากแผนการนำเข้าไซริงค์จากจีนมาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดในจีนที่มีการปิดท่าเรือ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเราพยายามลงทนด้วยความระมัดระวังจึงได้ระงับแผนงานไปก่อน

โดยหลังจากที่ระงับโครงการแรกไป เราได้เริ่ม R&D จากโปรดักส์ในมือที่มีอยู่จำนวนพอสมควร ขณะนี้เรามั่นใจแล้ว เพราะมีคู่ค้าที่จะมาขายสินค้าให้เรา และสินค้าของเราเป็นที่ยอมรับของตลาด ดังนั้น ปลายปีนี้จะมีโปรดักส์ 1 ตัวออกวางตลาดในประเทศ ซึ่งมีโอกาสทำยอดขายสูงมาก ประกอบกับความเชี่ยวชาญในงานพลาสติกของ PJW เชื่อว่าภายใน 2 ปีจะสามารรถบุกตลาดอาเซียนที่มีประชากรสูงถึง 600 ล้านคน เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายเติบโตเป็นเท่าตัวจากคาดการณ์ปี 67 ที่ 300 ล้านบาท จะกลายเป็น 600 ล้านบาท

“เรามั่นใจว่าสินค้าตัวนี้เราแข่งขันกับสินค้าจากทางยุโรปได้ เราจะส่งไปขายในยุโรป เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เราจะคุยกับตัวแทนจำหน่ายที่มีเน็ทเวิร์คทั่วโลก คุณภาพเทียบเท่ากับสินค้าที่นำเข้า แต่ต้นทุนของไทยถูกว่า ใช้เวลาปีหน้าทั้งปีขายในประเทศไทยก่อน เพื่อให้เชี่ยวชาญ และตัวแทนจำหน่ายยอมรับ คุณภาพได้รับการยอมรับว่าตรงกับความต้องการของตลาด ปี 2568 เป็นปีที่เราจะขายในตลาดอาเซียน 600 ล้านคนก็จะทำให้เราเติบโตได้มาก หลังจากนั้น 2569 จะส่งไปขายในตลาดทั่วโลก”

จากนั้นในปี 2567 บริษัทจะพัฒนาโปรดักส์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่วิจัยพัฒนาอยู่ ได้แก่ อุปกรณ์ในกลุ่มรักษาโรคไต ข้อกระดูก-ข้อเข่า ขวดบรรจุของเหลว ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง ซึ่งจะเน้นการทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง และเน้นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้แล้วทิ้ง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์เรื่องรีไซเคิลได้ โดยมีจุดเด่นคือการร่วมมือกับทีมวิจัยของภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และ สวทช.

ขณะที่กลุ่มสินค้า Medical  จะเป็นตัวใหม่ที่ทำให้เราออกจากการเติบโตแบบ organic มาที่ inorganic คาดว่าในอนาคตจะสร้างสัดส่วนรายได้ราว 10-14% ของยอดขายรวม และจะเป็นทางออกในการทดแทนรายได้จากขวดบรรจุน้ำมันเครื่องที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากการเข้ามาองรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในอนาคตขณะที่ให้อัตรากำไรสูงกว่าเกือบเท่าตัว

“เราจะทำสินค้าที่เป็น Global Product ที่ใช้กันทั่วโลกตลาดระดับ Hi-Scale เราวางตัวไว้เป็นผู้นำอุปกรณ์การแพทย์พลาสติกในไทย และเป็นรายใหญ่ในอาเซียน” นายวิวรรธน์ กล่าว

สำหรับการผลิตปัจจุบันใช้สายการผลิตในโรงงานที่สมุทรสาคร โดยอัพเกรดจากคลีนรูมที่ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอาหาร ลงทุนราว 50 ล้านบาท แต่ในอนาคตมองโอกาสการตั้งโรงงานใหม่หากมีการผลิตโปรดักส์ใหม่ ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถทำยอดขายได้ตามที่คาดหวัง โดยจะเป็นโรงงานที่มีพื้นที่ราว 5,000 ตารางเมตร ใช้งบค่าที่ดินและก่อสร้างราว 100 ล้านบาท และงบซื้อเครื่องจักรอีกส่วนหนึ่ง โดยมองแนวทางการร่วมทุนพันธมิตร ทั้งพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายสินค้า และพันธมิตรทางธุรกิจด้านอื่นๆ อย่างเช่นปัจจุบันบริษัทได้เซ็น MOU กับอินโนบิก (เอเซีย) ในกลุ่ม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเจรจาขยายความร่วมมือกัน

Back to top button