“ดาวโจนส์” ปิดบวก 272 จุด ขานรับกำไร “เอ็กซอน โมบิล-อินเทล” แกร่ง

“ดาวโจนส์” ปิดบวก 272 จุด แตะ 34,098.16 จุด ขานรับ “เอ็กซอน โมบิล-อินเทล” ประกาศกำไรฟื้นตัวแข็งแกร่ง ชดเชยความวิตกงบ “อะเมซอน” ชะลอตัว


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดบวกในวันศุกร์ (28 เม.ย.) เนื่องจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัท เอ็กซอน โมบิล และบริษัท อินเทล ได้ช่วยบดบังความวิตกเกี่ยวกับการเตือนถึงภาวะชะลอตัวทางธุรกิจของบริษัทอะเมซอน และการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ระดับ 34,098.16 จุด เพิ่มขึ้น 272.00 จุด หรือ +0.80%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,169.48 จุด เพิ่มขึ้น 34.13 จุด หรือ +0.83% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,226.58 จุด เพิ่มขึ้น 84.35 จุด หรือ +0.69%

ดัชนี S&P หุ้นกลุ่มพลังงาน บวก 1.5% หลังหุ้นเอ็กซอน โมบิล คอร์ป ปิดพุ่งขึ้น 1.3% หลังรายงานผลกำไรไตรมาสแรกสูงเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากการผลิตน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มขึ้น

หุ้นอินเทล คอร์ป พุ่งขึ้น 4% หลังเปิดเผยว่า กำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยปิดลบ 0.04% เนื่องจากหุ้นอะเมซอน.คอม ร่วง 4% หลังส่งสัญญาณเตือนว่า การขยายตัวของธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติงของบริษัทจะชะลอตัวลงอีก

ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นในรอบสัปดาห์นี้และในเดือนนี้ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำ อาทิ อัลฟาเบท, ไมโครซอฟท์ และเมตา แพลตฟอร์มส อิงค์

บรรดานักลงทุนยังคงระมัดระวังในการซื้อขายก่อนบริษัทแอปเปิ้ลรายงานผลประกอบการในสัปดาห์หน้า และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงิน รวมถึงการเปิดเผยรายงานการจ้างงานในเดือนเม.ย.ของสหรัฐ

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 0.9%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 0.98% และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 1.3% และในรอบเดือนนี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 2.5%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.5% และดัชนี Nasdaq บวกขึ้นเล็กน้อยไม่ถึง 0.1%

ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น กลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นมากที่สุด ขณะที่กลุ่มสาธารณูปโภคลดลงมากที่สุด 0.2% ส่วนดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มธนาคารปิดบวก 1.1%

ดัชนีดาวโจนส์กลุ่มการขนส่งที่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจปิดบวก 1.6% ในวันศุกร์ แต่ลดลง 2.7% ในรอบสัปดาห์นี้

บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทในดัชนี S&P500 จะลดลง 1.9% จากปีก่อน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อต้นเดือนเม.ย.ว่าอาจจะลดลง 5.1%

การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์หน้า

ตลาดได้แรงหนุนจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 63.5 ในเดือนเม.ย. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 62.0 ในเดือนมี.ค.

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างดีดตัวขึ้น

นักลงทุนยังคงจับตาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยขณะนี้ บริษัทในดัชนี S&P 500 จำนวน 260 แห่งได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 1/2566 แล้ว ซึ่งบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจำนวนราว 80% รายงานผลกำไรที่ดีกว่าคาด

อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นของธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิก แบงก์ (First Republic Bank) หรือ FRB ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ ร่วงลงอย่างหนักในการซื้อขายในวันศุกร์ หลังมีรายงานว่า บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) มีแนวโน้มที่จะเข้าพิทักษ์ทรัพย์ของ FRB

สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พ.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวจากระดับ 5.1% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป เพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนมี.ค. และชะลอตัวจากระดับ 0.3% ในเดือนก.พ.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.6% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.5% แต่ชะลอตัวจากระดับ 4.7% ในเดือนก.พ.

เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.3% เช่นกันในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (ECI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนแรงงานที่กว้างที่สุด เพิ่มขึ้น 1.2% ในไตรมาส 1/2566 เมื่อเทียบรายไตรมาส โดยสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในไตรมาส 4/2565

เมื่อเทียบรายปี ดัชนี ECI พุ่งขึ้น 4.8% จากระดับ 4.0% ในไตรมาส 4/2565 โดยดัชนี ECI ถือเป็นมาตรวัดที่น่าเชื่อถือในการชี้วัดตลาดแรงงาน และเป็นดัชนีคาดการณ์ที่ดีสำหรับอัตราเงินเฟ้อซึ่งเฟดให้ความสำคัญ

Back to top button