THAI พ้นแผนฟื้นฟู Q2/68 จ่อแปลงหนี้-เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ปี 67

THAI เตรียมพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ Q2/68 เดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุน 5.5 หมื่นล้านบาท กลางปี 67 ก่อนเพิ่มทุนหุ้นละ 2.54 บาท ระดมเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท รวมกว่า 8 หมื่นล้านบาท ทำให้ส่วนทุนกลับมาเป็นบวก คลัง-รัฐวิสาหกิจพร้อมใส่เงิน ถือไม่เกิน 40%


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า THAI จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ประมาณไตรมาส 2/68 โดยตามแผนฟื้นฟูฯ กำหนดให้ THAI ต้องดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุน และขายหุ้นเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.67 จำนวน 8 หมื่นล้านบาทเพื่อให้ส่วนของทุนกลับมาเป็นบวก โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.66 ส่วนของผู้ถือหุ้น THAI ติดลบ 54,706 ล้านบาท

ทั้งนี้ กระบวนการให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนจะดำเนินการช่วงกลางปี 67 โดยราคาขายหุ้นละ 2.54 บาท หรือเป็นเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย ก่อนจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในช่วงครึ่งหลังปี 67 ซึ่งหากขายไม่หมดก็จะปรับมาขายให้แก่พนักงาน และผู้ลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาสูงกว่า 2.54 บาท/หุ้น เพื่อระดมเม็ดเงินใหม่ 2.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามบริษัทจะต้องรองบการเงินที่ได้รับตรวจสอบแล้วของงวดปี 67 ที่จะออกมาในช่วงปลายเดือน ก.พ. 68 ก่อน จึงจะสามารถนำไปยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูได้ และคาดว่ากว่าศาลล้มละลายนัดพิจารณาน่าจะใช้เวลาในช่วงไตรมาส 2/68

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจะประสบผลสำเร็จ เพราะกระทรวงการคลัง รวมถึงกองทุนวายุภักษ์ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ถือหุ้น THAI รวมกันในสัดส่วน 60% จะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน แต่ท้ายที่สุด สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐจะต้องถือหุ้น THAI ไม่เกิน 40% เพื่อไม่ให้ THAI กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูฯ

สำหรับเงื่อนไขสำคัญในการออกจากแผนฟื้นฟูฯ มี 2 ประเด็น คือ ส่วนของผู้ถือหุ้นต้องเป็นบวก และ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบิน ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังต้องมีจำนวน 2 หมื่นล้านบาทขึ้นไป โดยในส่วน EBITDA THAI สามารถทำได้ตามเกณฑ์แล้ว ในงวด 9 เดือนปี 66 เพิ่มขึ้นมาที่ 31,720 ล้านบาท

ขณะที่เงินสดของบริษัทอยู่ที่ 63,387 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ก.ย.66 โดยบริษัทมีแผนนำไปเริ่มใช้หนี้สถาบันการเงิน หุ้นกู้ ตั๋ว Refund ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทรวมดอกเบี้ย โดยในส่วนตั๋ว Refund ได้ทยอยจ่ายไปมากแล้ว ยังเหลือที่ต้องจ่ายคืนอีกประมาณ 1 พันล้านบาท นอกจากนี้จะนำไปใช้ลงทุนในปี 67 กว่า 2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งลงทุนด้านไอที และส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสดสำรองของบริษัท

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 66 ถือว่ามีผลประกอบการที่ดี โดยงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 66) THAI มีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจำนวนผู้โดยสาร 10.13 ล้านคน และคาดว่าทั้งปีนี้ จะมีรายได้รวม 1.5 แสนล้านบาท จำนวนผู้โดยสาร 14 ล้านคน โดยในไตรมาส 4 และไตรมาส 1 เป็นช่วงไฮซีซั่น

ด้านแนวโน้มทิศทางธุรกิจปี 67 ยอมรับว่ายังมีความท้าทายและมีความเสี่ยงที่ภาวะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นจากจำนวนเครื่องบินที่กลับเข้าสู่ระบบให้บริการเพิ่มขึ้น, ปัญหาข้อพิพาทในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบกับการตัดสินใจเดินทางของผู้โดยสาร รวมถึงการชะลอตัวเศรษฐกิจของจีน, ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ และค่าใช้จ่ายการบริการภาคพื้นในต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

โดยปี 67 THAI จะมีการรับมอบเครื่องบิน A350-900 อีก 6 ลำ จากทั้งหมดที่จะมีจำนวนเครื่องบินที่ได้ทำการเช่าเพิ่มอีก 26 ลำ (A350-900 จำนวน 11 ลำ, A330-300 2 ลำ, B787 1 ลำ และ A321 จำนวน 12 ลำ) ซึ่งรับมอบเครื่องบิน A350-900 ไปแล้ว 3 ลำในปีนี้ และที่เหลือจะรับมอบในปี 68 จากปัจจุบันมี 68 ลำ ก็จะทำให้ THAI มีฝูงบินใหญ่ขึ้น ก็สามารถบินในเส้นทางยอดนิยมได้มากขึ้น อย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เมืองออสโล

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3/66 (ก.ค.-ก.ย. 66) ว่า THAI มีกำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 4,780 ล้านบาท โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง 8,360 ล้านบาท มีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6%  มีผู้โดยสารรวมทั้งสิ้น 3.27 ล้านคน มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.3% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 77%

สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 66 THAI มีกำไรสุทธิ 16,342 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุน 11,237 ล้านบาท มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง 31,720 ล้านบาท มีรายได้รวม 115,897  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 65,567 ล้านบาท มี Cabin Factor เฉลี่ย 80.0% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 61.1% และมีจำนวนผู้โดยสารที่รวม 10.13 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 77.4%

Back to top button