NER เล็งชงบอร์ดเคาะงบ 1.2 พันล้าน ผุดโรงงานยางแห่งที่ 3 กำลังผลิต 3 แสนตัน

NER เล็งชงบอร์ดเคาะงบ 1.2 พันล้านบาท ผุดโรงงานยางแท่ง-ผสม แห่งที่ 3 กำลังผลิต 3.02 แสนตันต่อปี ดันกำลังผลิตรวมแตะ 8.18 แสนตันต่อปี รองรับดีมานพุ่ง พร้อมย้ำเป้าปริมาณขายสินค้าแตะ 5 แสนตันต่อปี ฟากโบรกแนะซื้อเป้าสูง 5.20 บาท ลุ้นไตรมาส 4/66 โตดี พ่วงปันผลเด่นยีลด์สูง 7%  


นายศักดิ์ชัย จงสถาพงษ์พันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารบัญชี-การเงิน บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่งและยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตสินค้าประเภทยางแท่งและยางแท่งผสม โดยจะขอนำเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาอนุมัติเงิน 1,200 ล้านบาท สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 เฟส

โดยในเฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 2567 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568 และภายหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น 818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน โดยยังมุ่งเน้นการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายรายทั้งในประเทศจีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย และคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มอีกหลายราย

ทั้งนี้ด้านภาพรวมปี 2566 บริษัทยังคงตั้งเป้าปริมาณขายสินค้าที่ 500,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 515,600 ตัน โดยการเติบโตมาจากการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีการขายให้กับลูกค้าไปถึงไตรมาส 1/2567 แล้ว จากอานิสงค์ของคำสั่งซื้อจากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูงและราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับสถานการณ์ราคายางพารานั้น เริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด (Demand) ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ (รวมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนสนับสนุนของภาครัฐ) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง ส่วนสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทใช้วิธี “Matching Order” เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผัน ซึ่งทำให้บริษัทสามารรักษาอัตราการทำกำไร

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 3 ปี 66 มีการเลื่อนการส่งมอบสินค้าไปที่ส่งยังจีนทำให้รายได้จากการขายต่างประเทศลดลงซึ่งรายได้ส่วนนี้มี GPM สูง ทำให้มี GPM รวมลดลงกำไรสุทธิลดลงเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และเทียไตรมาสก่อนหน้า ตามด้วยกำไรที่ออกมาต่ำกว่าคาดอาจเห็นราคาหุ้นผันผวนในระยะสั้น แต่ด้วยปัจจุบันราคายางยังปรับตัวเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องและด้วยราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาต่ำยังคงคำแนะนำ”ซื้อ”

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด ระบุว่า ไตรมาส 4/2566 คาดการณ์กำไรปกติจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นเพราะมีการส่งมอบยางจากจีนที่เลื่อนจากไตรมาสก่อนมา และคาดกำไรปกติจะทรงตัวหรือเติบโตได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีฐานกำไรต่ำในไตรมาส 4/2565 แต่กำไรปกติ 9 เดือนของปี 66 คิดเป็น 71% ของประมาณการทั้งปีซึ่งสูงเกินไป อีกทั้งยังกังวลความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอยจะส่งผลต่อปริมาณขายและราคายางฟื้นตัวช้า รวมทั้งต้องจับตาภาวะเอลนีโญอาจกระทบต่อผลผลิตยางทำให้ต้นทุนยางสูงขึ้น กดดันศักยภาพทำกำไรในระยะถัดไปได้ จึงรับลดประมาณการลง 6% โดยภายใต้ประมาณการใหม่คาดปี 2566 NER จะมีกำไรปกติ 1,532 ล้านบาท หดตัว 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดีมีการปรับไปใช้กรอบราคาเป้าหมายปี 2567 ที่หุ้นละ 4.70-5.20 บาท (อิงค่าเฉลี่ย PER ที่ 5.5-6.0 เท่าเช่นเดิม)ซึ่งพบว่า Upside ยังไม่จูงใจลงทุนรอบใหม่ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและภัยแล้งซึ่งอาจกระทบต่อผลการดำเนินงาน

ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ไม่มีหุ้นยังคงแนะนำชะลอลงทุนไปก่อน ขณะที่นักลงทุนที่มีหุ้นอยู่คงแนะนำถือรับปันผลหลังคาดปี 2567 กำไรปกติจะฟื้นตัวได้เล็กน้อย 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง มีศักยภาพจ่ายเงินปันผลได้สม่ำเสมอ โดยคาดให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล(Dividend Yield) สูงราวปีละ 7% ทั้งนี้ความเสี่ยงที่สำคัญ คือ ความผันผวนของราคายางพารา, การถดถอยของเศรษฐกิจโลกและจีน, ภาวะภัยแล้งจากปรากฎการณ์เอลนีโญอาจกระทบผลผลิต, การแข็งค่าของเงินบาท

Back to top button