“ดีอี” เปิดโครงการ “รู้ทันเกมโกง หยุดกลคนลวง” รับมืออาชญากรรมไซเบอร์

“ดีอี” เปิดโครงการ “รู้ทันเกมโกง หยุดกลคนลวง” สร้างภูมิคุ้มกันประชาชนจากภัยออนไลน์ พร้อมยกระดับศูนย์ช่วยเหลือ 1212 ETDA ลุยเพิ่มแกนนำระดับพื้นที่ 10 จังหวัด เสริมความแกร่งรับมืออาชญากรรมไซเบอร์


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในงานแถลงข่าว เปิดตัว โครงการสร้างภูมิคนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA) “รู้ทันเกมโกง หยุดกลคนลวง” โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดีอีจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งการดำเนินงานของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA)

อีกทั้ง เป็นการขยายขีดความสามารถในการรับมือภัยออนไลน์ยกระดับทักษะของบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนประชาชน สร้างแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคในชุมชน เพื่อให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์อย่างปลอดภัย โดยมีนายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดีอี และนายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ร่วมงาน

โดย นายประเสริฐ กล่าวว่าสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่ล้ำหน้ามากขึ้นในทุกๆ วัน ส่งผลให้การทำกิจกรรมทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนได้ปรับสู่การทำผ่านออนไลน์มากขึ้น อย่างเช่นภาครัฐเองได้มีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการให้บริการประชาชน โดยการเสริมศักยภาพจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินงาน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงดีอีมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมการใช้งานในทุกภาคส่วน มีความปลอดภัย และได้มาตรฐานในระดับสากล ยกระดับการทำงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันการใช้ระบบคลาวด์ (Cloud) มีการส่งเสริมผู้ประกอบการและดึงดูดให้เกิดการลงทุน และการส่งเสริมการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี AI

รวมถึงการพัฒนากำลังคนดิจิทัล แต่สิ่งสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ คือ การรับมือกับภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทรวงได้ดำเนินการในเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ตลอดมา ผ่านแนวทางที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจและป้องปรามการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล การใช้ แอปพลิเคชันแจ้งเตือนหมายเลขโทรศัพท์เสี่ยงภัยออนไลน์ การแก้ปัญหาซื้อของออนไลน์แล้วได้ของไม่ตรงปก โดยการมีมาตรฐานบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery: COD) หรือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้วิเคราะห์ และประมวลผลเพื่อสนับสนุนการรับมือกับปัญหาทางออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือ การให้ความรู้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนที่จะต้องลงไปถึงระดับชุมชน

โดยจากสถิติการรับแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านช่องทาง 1212 ETDA ได้พบปัญหาที่ส่งผลต่อประชาชนเกือบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นปัญหา Cyberbullying การแชร์ข้อมูลส่วนบุคคล และการถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปกระทำความผิด รวมถึงการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ทำให้กระทรวงดิจิทัลฯ และ ETDA จึงต้องเร่งทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการสร้างภูมิคนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA) “รู้ทันเกมโกง หยุดกลคนลวง” ทั้งการส่งเสริมขีดความสามารถของบุคลากรตั้งแต่ระดับองค์กรไปจนถึงระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการต่อยอดเป็นกระบอกเสียง

อีกทั้ง พร้อมสร้างแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ท้องถิ่น ชุมชน การพัฒนาและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย และง่ายต่อการเข้าถึง รวมไปถึงกลไกสำคัญในการผลักดันการดำเนินงาน คือ การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อช่วยกันป้องกัน ยับยั้ง และปราบปรามปัญหาภัยออนไลน์ ที่จะช่วยลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และช่วยสร้างสังคมแห่งการรู้เท่าทันได้ในระยะยาว

ขณะที่ นายมีธรรม ณ ระนอง กล่าวว่าด้วยบทบาทการดำเนินงานของ ETDA ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ที่ควบคู่ไปกับบทบาทของการเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล ทำให้การที่ได้รับมอบหมายจากทางกระทรวงดีอีดำเนินงานในส่วนของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์หรือ 1212 ETDA โดยร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ได้มีข้อมูลที่สะท้อนถึงสถานการณ์ของภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นทั้งผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า 1212 ETDA ได้รับเรื่องร้องเรียน จำนวนถึง 60,178 เรื่อง

ทั้งนี้ มีการแก้ไขปัญหาแล้ว 96% โดยปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ปัญหาการซื้อขายทางออนไลน์ รองลงมา คือ ปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย การดำเนินงานของ 1212 ETDA จึงได้ยกระดับการดำเนินงานจากการเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียน การประสานติดตามการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง สู่การเป็นช่องทางกลางในการรับเรื่องร้องเรียนจากการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมกับขยายการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกือบ 20 หน่วยงาน เพื่อการจัดการปัญหาให้ครอบคลุมได้มากขึ้น

พร้อมกันนี้ยังได้จัดกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้ และสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชน ตลอดจนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 4,880 คน จาก 22 จังหวัด ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง ในปี 2567 นี้ จึงขยายเพิ่มอีก 10 จังหวัด กับ โครงการสร้างภูมิคนไทยรู้ทันปัญหาออนไลน์ (1212 ETDA)  ‘รู้ทันเกมโกง หยุดกลคนลวง’ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 เป็นต้นไป ซึ่งกิจกรรมจะมีทั้ง การจัดบูทนิทรรศการจากหน่วยงานความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง และการจัดเวทีเสวนา เพื่อแชร์ความรู้และกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง

Back to top button