“เหล็กไทย” แข่งขันสูง! วิตกราคาปี 67 หดตัว 6% เสี่ยงฉุด 23 บจ. ผลงานผิดหวัง

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ราคาเหล็กไทยปี 67 หดตัว 6% หลังเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง-การแข่งขันกับจีน เสี่ยงส่งผลกระทบ 23 หุ้นกลุ่มเหล็ก


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดการณ์ราคาเหล็กไทยในปี 2567 จะยังปรับลดลงจากปีก่อนราว 6% แต่ยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยราคาเหล็กทรงยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 21,000 บาทต่อตัน และราคาเหล็กทรงแบนเฉลี่ยอยู่ที่ 26,000 บาทต่อตัน

โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของราคาเหล็กไทยในปี 2567 เป็นผลมาจาก

1. ราคาเหล็กโลกยังมีแนวโน้มปรับลดลง ตามการลงทุนก่อสร้างในหลายประเทศยังมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่ออปสงค์เหล็กโลกให้เติบโตได้จกัด โดยเฉพาะความต้องการใช้เหล็กของจีนที่ยังมีทิศทางฟื้นตัวช้าจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งสอดคล้องไปกับข้อมูลของ The China Metallurgical Industry and Research Institute ที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์เหล็กในจีนน่าจะยังปรับตัวลงต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาราว 1.7% สวนทางกับการผลิตเหล็กของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง

2. ราคาเหล็กในประเทศถูกกดดันจากการไหลเข้าของเหล็กจีน โดยในปี 2566 ไทยนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของจีน คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของปริมาณส่งออกเหล็กทั้งหมด ทำให้หลายประเทศผู้ผลิตเหล็กในอาเซียนเผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากการส่งออกเหล็กของจีนที่นับเป็นปริมาณการส่งออกสูงสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่ไทยก็ได้รับผลกระทบจากการเริ่มเห็นข่าวปิดกิจการโรงงานเหล็กทั้งที่เป็น SMEs หรือแม้กระทั่งรายใหญ่

3. ผู้ผลิตเหล็กไทยแข่งขันยากขึ้นเมื่อเหล็กนำเข้าจากจีนมีราคาถูกกว่า เนื่องจากไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเหล็กวัตถุดิบมาผลิตหรือแปรรูป (คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 60% ของอุปทานเหล็กในประเทศ) ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของไทยสูงกว่าจีนที่ผลิตเหล็กตั้งแต่ต้นน้ำ และมี Economy of scale สะท้อนผ่านราคาเหล็กที่ผลิตในไทยบางรายการสูงกว่าราคาเหล็กนำเข้าจากจีน

ทั้งนี้ ในปี 2566 นอกจากผลของราคาเหล็กที่ลดลงแล้ว ผู้ผลิตเหล็กไทยยังเผชิญรายได้ที่หดตัวมากขึ้นตามยอดขายที่ลดลง ซึ่งบางรายที่แข่งขันไม่ได้ก็จำเป็นต้องลดการผลิต เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ถึงแม้ยังมีบางส่วนที่ประคองตัวได้ มีการปรับกลยุทธ์โดยขยายไลน์การผลิตเพื่อลดต้นทุน หรือหันไปผลิตเหล็กเกรดพิเศษต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไปจนถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เหล็กคาร์บอนต่ำ

ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในปี 2567 ปริมาณการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มทรงตัวหรือขยายตัวในอัตราต่ำประมาณ 0.0-1.0% ต่อปี (หลังจากหดตัวในปี 2566) ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้าที่คาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง จากการที่ไทยไม่มีการผลิตเหล็กต้นน้ำ ทำให้ต้นทุนการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนยังสูง การแข่งขันในประเทศจึงเสียเปรียบสินค้าเหล็กนำเข้าโดยเฉพาะจากจีน ซึ่งได้มีการปรับกระบวนการผลิตเหล็กราคาถูกให้มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ

ด้านราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก แม้จะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยราคาเหล็กในตลาดโลกอาจได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมด้านต้นทุนจากการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดคาร์บอนจากผลกระทบ CBAM ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อราคาเหล็กในประเทศ ส่วนราคาเหล็กเส้นและเหล็กรูปพรรณในประเทศยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามราคาวัตถุดิบหลักที่ทยอยปรับลดลง

ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์(บจ.) อยู่ในหมวดธุรกิเหล็กที่อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มหดตัว 6% อาทิ บริษัท 2 เอส เมทัล จำกัด (มหาชน) หรือ 2S, บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรืGJS, บริษัท เอเซีย เมทัล จำกัด (มหาชน) หรือ AMC, บริษัท บางสะพานบาร์มิล จำกัด (มหาชน) หรือ BSBM, บริษัท แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ CEN, บริษัท ซิตี้ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ CITY, บริษัท ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CSP,บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ GJS และ บริษัท โพสโค-ไทยน๊อคซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ INOX

บริษัท โลหะกิจ เม็ททอล จำกัด (มหาชน) หรือ LHK, บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS, บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL, บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) หรือ PAP, บริษัท เพิ่มสินสตีลเวิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PERM, บริษัท สามชัย สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ SAM, บริษัท สหมิตรเครื่องกล จำกัด (มหาชน) หรือ SMIT, บริษัท ศูนย์บริการเหล็กสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ SSSC

รวมถึง บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือTGPRO, บริษัท เดอะ สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ THE, บริษัท ทีเอ็มที สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ TMT, บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH, บริษัท ไทยไวร์โพรดัคท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TWP และ บริษัทไทยคูน เวิลด์ไวด์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TYCN

Back to top button