“เจพีมอร์แกน” หั่นเป้า SET ปีนี้เหลือ 1500 จุด พ่วง “ดาวน์เกรดกลุ่มการเงิน” แนะนำขาย

“เจพีมอร์แกน” หั่นเป้า SET ปีนี้เหลือ 1500 จุด จากเดิม 1,700 จุด พ่วง “ดาวน์เกรดกลุ่มการเงิน” จาก ถือ เป็น ขาย หลังมองการเติบโตสินเชื่อยังชะลอตัวลงจนติดลบ-เศรษฐกิจอ่อนแอ ขณะที่เงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูง กดดันคาดการณ์ของตลาดต่อการหั่นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้เงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจพีมอร์แกน (JPM) ปรับลดคาดการณ์ดัชนี SET Index ในปีนี้เหลือ 1,500 จุด จากเดิมคาด 1,700 จุด พร้อมปรับลดคาดการณ์ดัชนี MSCI Thailand Index เหลือ 500 จุด จากเดิมคาด 550 จุดโดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ทำให้โอกาสการลงทุนนั้นค่อนข้างที่จะจำกัด นอกจากนั้นแล้วอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวอยู่เหนือระดับเป้าหมายของเฟด ยังกดดันคาดการณ์ของตลาดต่อการหั่นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของหุ้น

ทั้งนี้ JPM ยังระบุว่าในมุมมองเชิงบวก ฝ่ายวิเคราะห์เห็นถึงดีมานด์จากต่างประเทศ โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของภาคการผลิต โดยเฉพาะในส่วนของอีวีและเทคโนโลยี

โดยในรายละเอียดของเศรษฐกิจที่อ่อนแอนั้น JPM ระบุว่าแม้ภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นส่วนช่วยหนุนการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เห็นความอ่อนแอในด้านการผลิตและขายรถยนต์ รวมถึงการใช้จ่ายสาธารณะ (public expenditure) ที่ติดลบ และการเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงจนติดลบเช่นกัน

อย่างไรก็ตามตัวเลข PMI ภาคการผลิตทั่วโลกปรับขึ้นมาอยู่ในแดนบวกเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนส.ค. 2565 ซึ่งมองว่าจะช่วยเป็นตัวผลักดันการผลิต และส่งออกของไทยได้ รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่าก็จะเป็นปัจจัยหนุนการส่งออก และภาคบริการ (ท่องเที่ยว/ medical tourism) ด้วยเช่นกัน

โดย JPM มองว่ากลุ่มที่มีปัจจัยบวกในด้านการเติบโตเฉพาะตัวนั้นจะมีโอกาสเห็นการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มสุขภาพ และโทรคมนาคม นอกจากนี้ฝ่ายวิเคราะห์ปรับมุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมของตลาดหุ้นไทยดังนี้ 1) ดาวน์เกรดกลุ่มการเงินจาก ถือ เป็น ขาย และสาธารณูปโภคจาก ซื้อ เป็น ถือ 2) อัพเกรดกลุ่มสุขภาพ และโทรคมนาคม จาก ถือ เป็น ซื้อ 3) กลุ่ม IT จาก ขาย เป็น ซื้อ

ทั้งนี้ในส่วนของการปรับลดคาดการณ์ดัชนีนั้น JPM ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงนั้นส่งผลกระทบต่อคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างมาก ส่งผลให้เงินทุนไหลออก เงินบาทอ่อนค่า และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อมูลค่าของหุ้น โดยเป้าหมายดัชนี MSCI Thailand ที่ปรับลดลงเหลือ 500 ในปีนี้ชี้ให้เห็นถึงการลดมูลค่า P/E ลง 6% ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นปรับลดคาดการณ์ลง 5% จากสภาพเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนตัว

นอกจากนั้นแล้ว JPM ยังระบุว่าบรรดาผู้จัดการกองทุนในประเทศเริ่มลดการถือครองหุ้นมาตั้งแต่เดือนก.พ. และหันมาถือเงินสดเพิ่มขึ้นในระดับที่ 10.6% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2565 โดยกองทุนนั้นลดการถือครองในกลุ่มคมนาคม (-1%),เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)(-0.6%) และอาหารและเครื่องดื่ม (-0.2%) ซึ่งกลุ่ม ICT นั้นกลายมาเป็นกลุ่มที่คอนเซนซัสตลาดมองเป็น Underweight หรือ “ขาย” ในเดือนก.พ.

อย่างไรก็ดี JPM ระบุว่าเป็นการเข้ามาถือครองหุ้นกลุ่มแบงก์เพิ่มขึ้น (+0.4%) และกลุ่มธุรกิจพาณิชย์ (+0.3%) โดยเห็นการเข้าซื้อหุ้นบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL  และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รวมถึงลดน้ำหนัก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL

ขณะที่ JPM ระบุว่าเริ่มเห็นเงินทุนไหลเข้าเล็กน้อยในเดือนเม.ย. หลังจากที่คาดว่าลงไปจนถึงต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยทางด้านอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงอยู่ในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว และภูมิรัฐศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

โดยประเทศไทยเห็นเงินทุนไหลออกมากถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากการปรับโครงสร้างของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC และถ้าตัดส่วนนี้ออกไปจะทำให้เงินทุนที่ไหลออกจากไทยนั้นยังอยู่ในระดับต่ำราว 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาเป็นบวกราว 267 ล้านดอลลาร์ในช่วงต้นเม.ย. ซึ่งทิศทางการไหลเข้าของเงินทุนนั้นเป็นไปตามมุมมองของ JPM ที่มองว่าการถือครองหุ้นให้อยู่ในระดับต่ำนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงดาวน์ไซด์ได้ โดยยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น และความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ส่งผลให้นักลงทุนไม่ค่อยต้องการเผชิญความเสี่ยงที่มากนัก

ในส่วนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่แม้ว่าจะล่าช้ากว่าที่คาดไว้แต่ขณะนี้เริ่มเห็นความชัดเจนของขั้นตอนที่จะประกาศใช้ และเงินทุนที่จะนำมาใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงท้ายปีนี้ ทั้งนี้ให้หุ้นท็อปพิกได้แก่ AOT, บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) หรือ BDMS ,บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE

Back to top button