THAI ปักธงรายได้ปีนี้แตะ 1.6 แสนล้าน เร่งขยายเที่ยวบินใหม่ “ยุโรป-อินเดีย”

THAI กางแผนธุรกิจปี 67 ลุยเปิดเที่ยวบินใหม่เมือง “ออสโล” ประเทศนอร์เวย์ ในยุโรป และเมือง “โคจิ-อัมริตสาร์” ประเทศอินเดีย พ่วงเพิ่มความถี่ของเที่ยวบิน “ปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้” ประเทศจีน ปักธงรายได้ปีนี้แตะ 1.6 แสนล้านบาทพร้อมดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ


นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1 ปี 2567 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญจากการเติบโตของรายได้การขนส่งผู้โดยสารด้วยบริการเที่ยวบินขนส่งที่เพิ่มขึ้น และความต้องการเดินทางที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น

โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท หรือ 22.50% ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 28,473 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่ง จำนวนเที่ยวบิน, จุดบิน,ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น, การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ได้แก่ ค่าใช้จ่ายการบริการผู้โดยสาร, ค่าบริการการบินในต่างประเทศ, ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงเครื่องบินและอุปกรณ์ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท หรือ 15.00%

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,608 ล้านบาท มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 4,036 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบินจำนวน 12 ลำ ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างจัดทำสัญญากับผู้ซื้อ และมีราคาเสนอซื้อต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี รวมทั้งสินทรัพย์สิทธิการใช้ รวมทั้งอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท แต่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ 4,136 ล้านบาท

โดยส่งผลให้ในไตรมาส 1/67 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำรสุทธิอยู่ที่ 2,423 ล้านบาท และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 14,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินจำนวน 14,054 ล้านบาท

สำหรับจำนวนเครื่องบินที่ใช้ทำการบินในไตรมาส 1 รวมทั้งสิ้น 73 ลำ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจำนวน 8 ลำ โดยเป็นการทยอยรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 ที่จัดหาและนำมาปฏิบัติการบินระหว่างปี ทั้งนี้ มีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 12.80 ชั่วโมงต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.10% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 10.10% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.50% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งเฉลี่ยที่ 80.80% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.20%

นอกจากนั้น บริษัทฯ มีเครื่องบินที่คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีมติอนุมัติให้จำหน่าย ซึ่งบริษัทฯ และผู้ซื้ออยู่ระหว่างจัดทำสัญญาและตรวจสอบทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 23 ลำ

อีกทั้งไตรมาส 1 ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีรายได้บัตรโดยสารรวม 38,517 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากผู้โดยสารทั่วไป 38,387 ล้านบาท และจากส่วนราชการภายในประเทศ 130 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.30% ของรายได้บัตรโดยสารรวม โดยเป็นรายได้จากเส้นทางยุโรป 34.5% เอเชียเหนือ 32.80% เอเชียตะวันตกและตะวันออกกลาง 11.90% ออสเตรเลีย 7.20% และเส้นทางภายในประเทศ 5.90%

ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 67 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม 257,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66 จำนวน 18,119 ล้านบาท หรือ 7.60% หนี้สินรวมจำนวน 297,829 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66 จำนวน 15,696 ล้านบาท ในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบ 40,719 ล้านบาท โดยติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธ.ค. 66 จำนวน 2,423 ล้านบาท มีเงินสดรวมตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำ และหุ้นกู้ ที่มีระยะเวลาครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จำนวน 72,725 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธ.ค. 66 จำนวน 5,595 ล้านบาท

โดยจากปริมาณความต้องการเดินทางที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการบริหารจัดตารางเวลาขึ้น-ลงของเที่ยวบิน (Slot Time) ที่ได้รับการจัดสรรตามมมาตรฐานกระบวนการในระดับสากล ทั้งในส่วนการใช้ตารางเวลาที่ได้รับจัดสรรเพื่อรองรับความต้องการการเดินทางและเชื่อมต่อเครือข่ายเที่ยวบินของผู้โดยสาร รวมทั้งการคืนตารางเวลาในเส้นทางและเที่ยวบินที่ไม่ได้อยู่ในแผนการบินของบริษัทฯ

ส่วนของการส่งมอบประสบการณ์ผู้โดยสาร บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องโดยสาร รวมถึงเก้าอี้โดยสารมาตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา และได้เพิ่มมาตรการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 2 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 บริษัทฯ ได้เปิดตัวโมบายแอปพลิเคชั่น “Thai Airways” เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารในการใช้งานมากยิ่งขึ้น พร้อมปรับรูปลักษณ์ใหม่เพื่อความทันสมัยและเข้าใจง่าย ตอบโจทย์การใช้งาน ด้วยข้อมูลการจัดการเที่ยวบิน และการเข้าถึงบริการออนไลน์ของ รอยัล ออร์คิด พลัส (ROP) อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางในการให้บริการผู้โดยสารและเข้าถึงผู้โดยสารให้มากยิ่งขึ้น

สำหรับแผนธรุกิจในอนาคต บริษัทฯ จะมีเครื่องบินเข้ามาเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ 73 เพิ่มเป็น 79 ลำภายในปีนี้ ส่งผลให้ในไตรมาส 2/67 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะมีเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น อาทิ เที่ยวบินออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของเน็ตเวิร์คของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทมองว่าตลาดยุโรป เป็นกำลังหลักที่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ

โดยในไตรมาสที่ 2/67 บริษัทฯ จะบริหารจัดการปรับปรุงฝูงบิน และเครือข่ายเส้นทางบินอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A350-900 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 787-9 จำนวน 1 ลำ เข้าสู่ฝูงบิน กลับมาทำการบินสู่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี, และยังมีเที่ยวบินใหม่ที่เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยมี 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทั้งนี้จากการการปรับปรุงฝูงบิน และการเพิ่มเที่ยวบินดังกล่าวจะช่วยให้เสริมรายได้สำหรับฝั่งยุโรปให้กับบริษัทฯ

สำหรับประเทศจีน บริษัทฯ จะเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินที่ปักกิ่ง จาก 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 10 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, เซี่ยงไฮ้จาก 7 เที่ยวบิน เป็น 11 เที่ยวบิน ตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป และบริษัทฯ จะเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังเมืองโคจิ ประเทศอินเดีย เริ่มวันที่ 2 เม.ย. 67 เป็นต้นไป ทั้งนี้จากมาตรการวีซ่าฟรีอินเดีย ของรัฐบาล บริษัทฯ จึงได้ทำการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในอินเดีย และเพิ่มเส้นทางทางใหม่ อาทิ อัมริตสาร์ ในไตรมาส 4/67 ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้รวมของปี 67 ไว้ที่ 1.60 แสนล้านบาท

ดังนั้นภายในปี 67 บริษัทฯ จะดำเนินการปรับโครงสร้างทุนให้แล้วเสร็จ ตามแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไขที่ศาลเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65 โดยมีเป้าหมายในการทำให้ส่วนทุนเป็นบวกเพื่อให้หลักทรัพย์ของบริษัทฯ สามารถกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้ง ด้วยสถานการณ์ของบริษัทฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นเดิม และนักลงทุนในการให้การสนับสนุนบริษัทฯ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทฯ ที่จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งและสร้างผลกำไรที่ดีอย่างยั่งยืน

Back to top button