“กัณฑรา” มอง SET รีบาวด์! แนะสะสม SCC-GULF พื้นฐานแกร่ง-กำไรเด่น

“กัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา” ประเมินดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวระยะสั้น หลังเบรกดาวน์เทรนด์-วอลุ่มเบาบาง บ่งชี้แรงขายจำกัด แนะทยอยเก็บ SCC-GULF ช่วงย่อตัว พร้อมจับตาการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลเชิงบวก


นายกัณฑรา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ว่า ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มรีบาวด์ได้ในระยะสั้น หลังจากดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบตลอดช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีการปรับตัวลงเพียงเล็กน้อยในภาวะที่มูลค่าการซื้อขายเบาบาง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าแรงขายเริ่มจำกัด

ทั้งนี้ ทางเทคนิคดัชนีสามารถเบรกเส้นแนวโน้มขาลง (downtrend line) ที่บริเวณ 1,085 จุดขึ้นมาได้ ทำให้มีโอกาสที่ตลาดจะปรับขึ้นต่อ โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างกราฟยังไม่เสียรูปแบบ ขณะที่นักลงทุนเริ่มปรับตัวรับข่าวเชิงลบเกี่ยวกับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ไปมากแล้ว

นายกัณฑรา กล่าวอีกว่า แม้การเจรจาทางการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จะยังไม่ยุติ แต่ตลาดมองว่าอัตราภาษีที่เรียกเก็บมีเพดานจำกัด และอาจมีโอกาสที่ไทยจะสามารถต่อรองเพื่อลดผลกระทบได้ ขณะที่สถานการณ์ภายนอก เช่น แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งอาจมีมากถึง 2–3 ครั้งในปีนี้ ยังถือเป็นแรงสนับสนุนเชิงจิตวิทยาต่อตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ FSS แนะนำให้เน้นคัดเลือกหุ้นรายตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งแต่ราคาปรับฐานแรง อาทิ หุ้น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ซึ่งคาดว่ากำไรปกติมีแนวโน้มฟื้นตัวโดดเด่นจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (Spread) ที่ดีขึ้น พร้อมให้ราคาเป้าหมายที่ 200 บาท

อีกหนึ่งหุ้นเด่นคือ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ซึ่งในไตรมาส 2/2568 ได้รวมกิจการตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะหนุนผลการดำเนินงานในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเมินมูลค่าพื้นฐานไว้ที่ 57 บาท พร้อมระบุว่าระดับราคาปัจจุบันราว 38 บาท ถือเป็นจุดที่น่าสนใจในการทยอยสะสม

ทั้งนี้ นักลงทุนควรระมัดระวังหุ้นกลุ่มส่งออกในระยะสั้น เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเกษตรแปรรูป ที่มีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง เนื่องจากยังต้องติดตามความคืบหน้าของการเจรจาภาษีนำเข้าอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี มองว่าการรวมพลังของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และสภาอุตสาหกรรม เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและนำเสนอแนวทางรองรับผลกระทบจากภาษี เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดในเชิง Sentiment โดยเฉพาะกรณีที่มีการดึงอดีตนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญจากภาคธุรกิจ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในทีมเจรจา

“ยิ่งมีการร่วมมือจากหลายฝ่าย ยิ่งมีโอกาสที่เราจะต่อรองได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งอาจพลิกจากความกังวล กลายเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุน” นายกัณฑรา กล่าว

พร้อมย้ำว่าในช่วงตลาดอยู่ในจุดต่ำที่จำกัดลง นักลงทุนควรใช้โอกาสนี้ในการทยอยสะสมหุ้นคุณภาพดี โดยใช้ทั้งพื้นฐานและปัจจัยทางเทคนิคประกอบการตัดสินใจ ซึ่งน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดในภาวะปัจจุบัน

Back to top button