หุ้นส่งออกฝันหวาน! รับตัวเลขการค้าระหว่างปท.กระฉูด-เงินบาทมีลุ้นแตะ 33.30

หุ้นส่งออกฝันหวาน! ลุ้นค่าเงินบาททดสอบ 33.30 รอบใหม่-ตัวเลขการค้าระหว่างปท.กระฉูด นำโดย HANA- DELTA-KCE-SVI-STA


ในภาวะเงินบาทแข็งค่ามาอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ปลายปี 2559 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 33.11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการแข็งค่าขึ้น 2.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามนักบริหารทางการเงินระบุว่าค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะกลับไปทดสอบ 33.30 บาท หรือกลับไปอ่อนค่าอีกครั้ง หลังเฟดมีมติคงดอกเบี้ยพร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นอีกครั้งในปีนี้

โดยประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกสำหรับบริษัทจดทะเบียนดำเนินธุรกิจโดยการส่งออกวัตถุดิบไปต่างประเทศ เนื่องจากจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะกลุ่มดังกล่าวมีรายได้เกือบทั้งหมดเป็นสกุลเงินต่างประเทศ และทุกๆการอ่อนค่าของเงินบาทย่อมส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ จึงได้ทำการสำรวจข้อมูลบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเกษตรและอาหารที่เป็นหุ้นส่งออก ซึ่งมีรายได้ส่วนใหญ่เป็นดอลล่าร์ และจะได้รับปัจจัยบวกจากกรณีดังกล่าว พบว่ามีทั้งหมด 9 บจ. ดังนี้  HANA ,DELTA ,KCE ,SVI ,STA ,KSL ,TU ,CPF และGFPT

ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 33.13 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเย็นวานนี้ที่ปิดตลาดอยู่ที่ 33.06 บาท/ดอลลาร์

“เงินบาทอ่อนค่าชัดเจนหลังเฟดมีมติคงดอกเบี้ย แต่ประกาศเดินหน้าลดขนาดงบดุลในเดือนตุลาคมและยังส่งสัญญาณว่าปีนี้ยังจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ดอลลาร์ก็มีแรงซื้อเข้ามาเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญหลังจาก FOMC แถลงออกมา…ถือว่าเซอร์ไพรส์ตลาดบ้างเพราะที่ผ่านมาตลาดมองว่าเฟดมักจะระมัดระวังคำพูด แต่เมื่อคืนชัดเจนทั้งเรื่องดอกเบี้ยและเรื่องงบดุล” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน มองว่าวันนี้เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.10-33.20 บาท/ดอลลาร์

“เงินบาทอาจจะอ่อนค่าต่อแต่คงไปไม่ไกลมากเพราะดูว่า ณ ระดับนี้น่าจะรับข่าวกันพอสมควร ขณะที่คืนนี้จะมีตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการของสหรัฐฯ” นักบริหารเงิน กล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นบวกจากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน ส.ค.60 โดยการส่งออกมีมูลค่า 21,224 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.2% สูงสุดในรอบ 55 เดือน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 19,134 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14.9% ส่งผลให้ดุลการค้าการเดินราว 2,090 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกปี 60 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 153,623 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.9% นำเข้ามีมูลค่า 144,750 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.4% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลา 8,873 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

โดย บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า เลือก บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และบมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE) เป็นหุ้นเด่นในฐานะที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและการแข็งค่าของดอลลาร์ฯ

สำหรับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวของไทยมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเป็นบวกต่อ BLA ส่วนการแข็งค่าของ US Dollar จะเป็นบวกต่อ KCE โดยการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ คาดว่าจะส่งผลให้อัตราผลดอกเบี้ยพันธบัตรอื่นๆปรับขึ้นตาม ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทย

โดยปัจจุบัน Spread ระหว่าง TH 10Y Bond Yield กับ US 10Y Bond Yield บีบแคบจนเหลือเพียง 4 bps ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นปีที่ 27.88 bps ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ TH 10Y Bond Yield ต้องดีดตัวขึ้นในเร็วๆ นี้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อ BLA โดยให้มูลค่าพื้นฐานไว้ที่ 50 บาท

ทั้งนี้การแข็งค่าของ US Dollar จะส่งผลให้สกุลเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์พลิกกลับไปอ่อนค่า คาดว่าบาทมีโอกาสที่จะกลับไปทดสอบ 33.30 บาท เป็นบวกต่อกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะส่งออกชิ้นส่วนอิเล้กทรอนิกส์ โดยเลือก KCE เป็นตัวเด่นของกลุ่ม เพราะนอกจากได้เรื่องเงินบาทอ่อนแล้ว ยังได้เรื่องการปรับลงของราคาทองแดงเป็นอีกตัวช่วย

 

ด้าน นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองว่าการที่เฟดคงดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 1.25% ตามคาด ประกาศเริ่มลดงบดุลอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ต.ค.60 ด้วยการปล่อยให้ตราสารหมดอายุแล้วไม่ซื้อเพิ่ม & กำหนดเพดานการลดเริ่มที่ 1 หมื่นล้านUS$/เดือนแล้วเพิ่มทีละ 1 หมื่นทุกไตรมาสไปถึง 5 หมื่นล้านUS$/เดือนในต.ค.61 รวมทั้งเจ้าหน้าที่เฟด 12 ใน 16 รายคาดว่าจะมีปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้ (CME Group ระบุถึงโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนธ.ค.เพิ่มเป็น 67%)…Implication คือ เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้น และเงินบาทจะอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นบวกกับกลุ่มส่งออกในระยะต่อไป หุ้นที่ DBS แนะนำซื้อ ได้แก่ KCE (TP 104 บาท), HANA (TP 55 บาท), VNG (TP 13.8 บาท)

 

*อนึ่งข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button