จัดกลยุทธ์รับมือบาทแข็งในรอบ 6 ปี ! แนะสอยกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์-เลี่ยงเสียประโยชน์

จัดกลยุทธ์รับมือบาทแข็งในรอบ 6 ปี ! แนะสอยกลุ่มธุรกิจได้ประโยชน์-เลี่ยงเสียประโยชน์ ชู 5 หุ้นทีเด็ด


วานนี้(20มิ.ย.62) นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดอยู่ที่ 30.94 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่องจากเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.12/14 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.91 – 31.17 บาท/ดอลลาร์

โดยบาทแข็งค่าสุดที่ระดับ 30.91 บาท/ดอลลาร์ ในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2013 และเงินบาทแข็งค่ามากสุดรองจากเงินวอนเกาหลีใต้ ประกอบกับมี flow ไหลเข้ามาต่อเนื่อง

จากประเด็นดังกล่าวทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจข้อมูลกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากเงินบาทแข็งค่าขณะเดียวกันได้รวบรวมกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้ได้รับผลกระทบจากประเด็นดังกล่าวมานำเสนอโดยอาศัยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี และบทวิเคราะห์จากบล.โนมูระ พัฒนสิน ซึ่งระบุเอาไว้ดังนี้

โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics)  ระบุเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.62 ว่า  คาดกำไรของธุรกิจส่งออกหดหายถึง 6.6 หมื่นล้านบาท ผลจากทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทจนถึงสิ้นปี 5% ซ้ำเติมจากแนวโน้มส่งออกที่ชะลอตัวลง แนะผู้ส่งออกใช้เครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

โดยทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปีนี้จะสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกที่ต้องใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอื่นๆที่รุมเร้าอยู่แล้ว เช่น ระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ตลาดโลกซบเซา การแข่งขันจากประเทศอื่น มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทางเลือกในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่เรื่องเปิดตลาดใหม่ๆ ทำผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จนไปถึงการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาศักยภาพการทำกำไร และยังคงมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป

ขณะที่ภาพรวมมูลค่าส่งออกไทยยังคงอ่อนแออยู่ จากตัวเลขการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรกของปีลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง -4% (ไม่รวมทองคำและอาวุธ) นอกจากนี้ธุรกิจส่งออกไทยยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงกับความผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของทิศทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ อาทิ จีน ยุโรป ฯลฯ และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่การเปลี่ยนท่าทีของธนาคารกลางหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน และญี่ปุ่น มีแนวโน้มไปในทางผ่อนคลายมากขึ้น ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังเข้ามาในไทยต่อเนื่อง ประเมินว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่งผลให้สิ้นปี 2562 คาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 31.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่า 5% จากปลายปี 2561

จากปัจจัยกดดันดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ในระดับธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ซึ่งผลกระทบจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ โดยศูนย์วิเคราะห์ฯ ทำการประเมินผลกระทบของค่าเงินบาทต่อรายได้ของธุรกิจไทย โดยสรุปแล้วทั้งปี 2562 ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น 5% จะทำให้อัตรากำไรขั้นต้น (Gross profit margin) ของผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ -3.2% ไปถึง +4.9% หรือคิดเป็นกำไรที่หายไปประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งแยกผลกระทบค่าเงินต่อธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

1.ธุรกิจที่เสียประโยชน์ พบว่าธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก จะได้ผลกระทบมากที่สุดจาก ทำให้รายได้ผู้ประกอบการหายไปกว่า 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น ลดลงจากระดับปกติ 0.3-3.2% กลุ่มธุรกิจที่ถูกกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และเครื่องประดับ

2.กลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ คือ ธุรกิจขายในประเทศและนำเข้าวัตถุดิบเป็นหลัก ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบที่เป็นเงินต่างประเทศน้อยลง 6.2 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้น เพิ่มขึ้นจากระดับปกติกว่า 0.3-4.9% ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ เครื่องจักร/ชิ้นส่วน เหล็ก/โลหะ เวชภัณฑ์/เครื่องมือการแพทย์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งทอต่างๆ

3.กลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการส่งออก แต่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาผลิต ซึ่งทำให้ธุรกิจสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง(Natural Hedging) กลุ่มธุรกิจดังกล่าว ได้แก่ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องดื่ม และเคมีภัณฑ์

 

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า  กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าส่วนใหญ่ กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดจะได้รับประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มการบิน กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่กลุ่มที่คาดได้รับผลกระทบเชิงลบและควรหลีกเลี่ยง คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดจะได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของค่าเงินบาท คือ กลุ่มการบิน โดยการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมีผลต่อกลุ่มสายการบินทั้งในแง่ รายได้ ต้นทุน และหนี้สิน ซึ่งตามปกติจะเกิด Natural Hedge ระหว่าง รายการข้างต้น ประเมินหลังจากหักผลกระทบจาก Natural Hedge แล้วกลุ่มสายการบินจะมี Net debt ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศที่มี ผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน

ส่วนกลุ่มโรงไฟฟ้า จะได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทแข็งค่า ปัจจัยหลักมาจากเงินกู้ต่างประเทศ (เงินบาทแข็ง จะมี unrealized gain) ซึ่งทุกการแข็งค่าของเงินบาท + บาท/USD จะส่งผลกระทบต่อกำไร ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม คาดกลุ่มนิคมฯ จะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากเงินบาทที่แข็งขึ้น เนื่องจากบริษัทร่วมบางส่วนของโรงไฟฟ้ามีเงินกู้เป็นสกุลดอลลาร์

กลุ่มที่คาดได้รับผลกระทบเชิงลบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทและควรหลีกเลี่ยง กลุ่มอิเลคทรอนิคส์ คาดได้รับผลลบมากสุดในกลุ่มจากค่าเงินบาทแข็งค่า นอกจากนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าอาทำให้เสียอำนาจการต่อรองราคาส่งออกกับลูกค้าในต่างประเทศด้วย โดยบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุเมื่อวันที่(17มิ.ย.62) หุ้นได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า TASCO, TOA, BGRIM, AMATA, STPI

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button