“อาคม” โต้ประเทศล้มละลาย แจงเหตุจำเป็นกู้ 1 ล้านลบ. ย้ำโควิดทำเป็นหนี้เหมือนกันทั่วโลก

“อาคม” โต้ประเทศล้มละลาย แจงเหตุจำเป็นกู้ 1 ล้านลบ. ย้ำโควิดทำเป็นหนี้เหมือนกันทั่วโลก


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19” ในงานสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤติเศรษฐกิจไทย” โดยยืนยันว่า สถานะและเงินคงคลังของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่มั่นคง ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฏในสื่อว่าประเทศไทยจะล้มละลายจึงไม่ใช่เรื่องจริง

แม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีการออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายสำหรับรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากงบประมาณประจำปีทำไม่ได้ เพราะงบประมาณในส่วนดังกล่าวทั้งหมดมีการผูกพันกับหน่วยงานไปหมดแล้ว

“รัฐบาลจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอ ต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักทั้งหมด คนตกงานไม่มีงานทำ และต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย ซึ่งงบประมาณปกติไม่เพียงพอจึงต้องกู้เงินมา 1 ล้านล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 50% ของจีดีพี แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง ที่กำหนดว่าหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเหมือนกันในหลายประเทศทั่วโลก” นายอาคม กล่าว

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ รมว.คลัง กล่าวว่า มีความแตกต่างกับการแพร่ระบาดในรอบแรกค่อนข้างมาก เพราะรอบแรกยังมองไม่เห็นเรื่องของวัคซีน ทำให้รัฐบาลต้องยอมสละด้านเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจเดือดร้อนทั้งหมด แต่ในครั้งนี้ รัฐบาลพยายามสร้างความสมดุลระหว่างภาพเศรษฐกิจและภาพของการป้องกันการแพร่ระบาด จึงไม่มีการล็อกดาวน์เพื่อหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ให้หยุดเฉพาะกิจกรรมที่มีความสุ่มเสี่ยงเป็นแหล่งแพร่เชื้อเท่านั้น อาทิ สถานบันเทิง ผับ บาร์ เป็นต้น ขณะที่ภาคธุรกิจอื่น ๆ ยังเดินหน้าได้ปกติ และมีการออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านโครงการคนละครึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ายอดการใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนกว่าประชาชนยังคงมีการใช้จ่ายอย่างปกติ

นายอาคม กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีวัคซีน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยภูมิคุ้มกันดังกล่าว เกิดจากการบริหารจัดการความเสี่ยงในหลาย ๆ มิติ ซึ่งภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนทางเศรษฐกิจของไทย มี 3 ระดับ คือ

1.ภูมิคุ้มกันของประเทศ มีตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ การเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ต้องเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง จะสูงหรือต่ำไม่เป็นไร แต่ต้องต่อเนื่อง, ฐานะการเงินของประเทศ โดยปัจจุบันไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ที่ 2-3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หากนำเงินก้อนนี้มาชำระหนี้ จะชำระหนี้ระยะสั้นได้ 3 เท่า จึงเป็นเครื่องสะท้อนถึงฐานะความมั่นคงของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

– สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก เพราะสิ่งที่ตามมาหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาความยากจน ที่เกิดจากการปิดกิจการ ส่งผลทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้นและรายได้ลด

2.ภูมิคุ้มกันกลุ่ม คือ ภาคการผลิต ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการและการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวของไทยที่เจอปัญหาอย่างมากจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ของภาคการผลิตของไทย ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

3.ภูมิคุ้มกันระดับประชาชน และแรงงาน โดยประชาชนต้องรู้จักการออมเพื่ออนาคตของตัวเอง ซึ่งมีหลายวิธี ทั้งการออมภาคบังคับ ผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญช้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม และการออมภาคสมัครใจ ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) การออมกับประกันชีวิต ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองเมื่อเจอวิกฤติ

รมว.คลัง กล่าวถึงแนวทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปนั้น ขณะนี้ กระทรวงการคลังกำลังเดินหน้าเยียวยาควบคู่ไปกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการ”เราชนะ” ที่จะดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 31 ล้านคน ส่วนประชาชนในกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มแรงงาน หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะมีกองทุนประกันสังคม และมีมาตรการออกมาดูแลต่อไป โดยการเยียวยาในครั้งนี้ กระทรวงการคลังพยายามนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาใช้ให้มากที่สุด ซึ่งต่อไปจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลในการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ โดยได้มีการขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่าง ๆ มีการยกเว้นและลดหย่อนให้ล่วงหน้า เพราะรัฐบาลเข้าใจดีว่าสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ประกอบการและประชาชน และขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติมในเรื่องของการช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจด้วย

ขณะที่การปฏิรูปโครงสร้างรายได้จากภาษีก็เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันว่าจะมีงบประมาณเพียงพอเพื่อรองรับการใช้จ่ายในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศของภาครัฐในระยะต่อไป โดยรัฐบาลได้มีการออกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกิจออนไลน์ (e-service) ซึ่งไม่มีสำนักงานในประเทศไทย แต่มีลูกค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้บริษัทอย่างมหาศาล ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนของการจัดเก็บภาษีของไทย ทำให้ต้องมีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

รวมทั้งจะเดินหน้าโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยจะไม่ยอมปล่อยให้ปัญหาโควิด-19 มาทำให้การลงทุนทั้งหมดหยุดชะงัก เพราะการลงทุนดังกล่าวถือเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยที่นักลงทุนต่างชาติให้การยอมรับว่ามีการพัฒนาและปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการลงทุนอย่างมาก โดยมีการจัดงบลงทุนไว้ที่ 20% ของงบประมาณรายจ่าย อีกทั้งยังให้ความสำคัญการการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สำหรับภาคการท่องเที่ยว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการต้องปรับตัว จะทำธุรกิจเหมือนเดิมไม่ได้ เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปจากเดิม เน้นการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้นการเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการเน้นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ

Back to top button