
“บีโอไอ” รีเฟรชเงื่อนไขลงทุน เพิ่มสิทธิเว้นภาษี “SMEs-เมืองรอง”
บอร์ดบีโอไอ ไฟเขียวมาตรการใหม่ หนุนศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ห่วงโซ่อุปทานโลก เพิ่มสิทธิประโยชน์ภาษี SMEs สูงสุด 5 ปี พร้อมงดส่งเสริมกิจการเสี่ยง และอัปเกรดเกณฑ์ลงทุน Data Center – เมืองรอง – พลังงานหมุนเวียน มูลค่าเฉียดแสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 พ.ค.68) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ บีโอไอ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับโลกยุคใหม่”
โดยมุ่งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ไทย พร้อมรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางตลาดโลกที่ผันผวน และเปิดทางให้ผู้ประกอบการไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ระดับโลก โดยมีมาตรการสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้
- เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ SMEs ไทย จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ บีโอไอปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ในวงเงิน 100% เพื่อกระตุ้นให้ SMEs ไทย ลงทุนด้านเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติ ประหยัดพลังงาน และมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดย
- งดส่งเสริมกิจการที่เสี่ยงที่อาจมีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) หรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐ และประเทศอื่น ๆ เช่น กิจการผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ แบตเตอรี่กลุ่มตะกั่ว-กรด อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งยานพาหนะ กิจการตัดโลหะ กิจการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกรณีตั้งนอกนิคมอุตสาหกรรมและไม่มีกระบวนการรีไซเคิลนอกจากนี้ จะงดส่งเสริมกิจการเหล็กขั้นปลายเพิ่มเติมจากเดิม ได้แก่ กิจการผลิตเหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กทรงแบน เฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นหนา และท่อเหล็กชนิดต่าง ๆ
- เพิ่มความเข้มข้นในเงื่อนไขกระบวนการผลิต สำหรับบางกิจการที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากมาตรการการค้าสหรัฐ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์โลหะ และอุตสาหกรรมเบา โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขชัดเจนว่าต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ โดยแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยในระดับ 4 หลัก เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- ปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ สำหรับกิจการผลิตที่ขอรับการส่งเสริมลงทุน และมีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งหมด นอกจากนี้จะกำหนดรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรต่างชาติที่จะขอใช้สิทธิ ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับบีโอไอ เช่น ถ้าเป็นระดับผู้บริหาร ต้องมีรายได้ 150,000 บาทขึ้นไป และระดับผู้เชี่ยวชาญ 50,000 บาทขึ้นไป เพื่อสร้างสมดุลการจ้างงานในประเทศให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการแย่งงานบุคลากรไทย และกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทยได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบหมายให้บีโอไอ ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI) ศึกษาแนวทางส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ และการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยกับต่างชาติ
ส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง
บอร์ดบีโอไอ ยังได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น โดยกิจการที่เข้าข่าย เช่น สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ท่าเรือท่องเที่ยว กระเช้าไฟฟ้า สนามแข่งรถ เป็นต้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิม 5 ปี เพิ่มเป็น 8 ปี ส่วนกิจการโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าว ได้รับสิทธิเพิ่มจาก 3 ปี เป็น 5 ปี
ปรับปรุงกิจการ Data Center, Data Hosting และ Cloud Service
บอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนกิจการ Data Center, Data Hosting และ Cloud Service ให้มีความเหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจในปัจจุบัน จะเน้นให้สิทธิประโยชน์ระดับสูง กับกิจการที่ใช้อุปกรณ์ที่มีความสามารถในการประมวลผลขั้นสูง (Advanced Computing Capabilities) ใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มเงื่อนไขโครงการที่จะขอรับการส่งเสริม ต้องเสนอแผนพัฒนาบุคลากรไทย เช่น การจัดทำหลักสูตรร่วมกับสถาบันการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs หรือการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศ โดยต้องดำเนินการตามแผนที่เสนอให้แล้วเสร็จก่อนการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ เพื่อให้การลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้เกิดประโยชน์พัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลแก่ประเทศไทยเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
ไฟเขียวลงทุน 7 โครงการ มูลค่าเฉียดแสนล้าน
ที่ประชุมอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และพลังงานหมุนเวียน รวม 7 โครงการ มูลค่าลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กิจการ Data Center 5 โครงการ ได้แก่ 1. บริษัท วิสตัส เทคโนโลยี จำกัด เงินลงทุน 6,854 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี 2. บริษัท บริดจ์ ดาต้า เซ็นเตอร์ ไอไอไอ (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 14,452 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี 3. บริษัท กาแล็คซี่ พีค ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด เงินลงทุน 23,553 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง 4. บริษัท กาแล็คซี่ ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด เงินลงทุน 22,313 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง และ5. บริษัท ดิจิทัล เอดจ์ ดีซี (ประเทศไทย) จำกัด เงินลงทุน 24,522 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี
ขณะที่ กิจการพลังงานหมุนเวียน 2 โครงการ ได้แก่ 1. บริษัท อัลฟ่า วัน โปรเจค จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุน 3,195 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ชุมพร และ 2. บริษัท อัลฟ่า ทู โปรเจค จำกัด ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เงินลงทุน 4,838 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์