
“อนุสรณ์” ห่วงลดภาษี 0% ให้สหรัฐ กระทบแรงงาน-อุตสาหกรรมไทย
กูรูเศรษฐศาสตร์ ชี้ข้อเสนอไทยลดภาษี 0% ให้สหรัฐฯ กระทบแรงงานและภาคการผลิตในไทย แนะ 4 มาตรการรับมือ ชูพัฒนาทักษะแรงงานไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ก.ค. 68) จากการหารือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าคณะเจรจาการค้าและภาษีกับสหรัฐฯ (ทีมไทยแลนด์) กับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไทยได้เสนอข้อลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 0% ครอบคลุมหลายหมื่นรายการ โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องนำเข้าหรือไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตือนว่า การลดภาษีนำเข้า 0% สินค้าจากสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การลดกำแพงภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยให้ลดลงใกล้เคียงกับอาเซียน อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของภาษีตอบโต้ที่ 36% ส่งผลให้ภาคส่งออกไทยได้รับผลกระทบน้อยลงกว่าเดิม 9-10 เท่า หากไม่ลดภาษี จะทำให้มูลค่าส่งออกสูญเสียหลายแสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯ โดยลดภาษี 0% อาจกระทบภาคการผลิตในไทยที่ปรับตัวไม่ทัน ขาดความสามารถในการแข่งขัน และกระทบตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในสินค้าประเภทเกษตรที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% ซึ่งจะสร้างแรงกดดันให้กับผู้ผลิตในประเทศที่กำลังเผชิญกับการทุ่มตลาดจากสินค้าจีนอยู่แล้ว
ส่วนผลกระทบของภาษีทรัมป์ต่อตลาดแรงงานไทยยังไม่รุนแรง และอยู่ในขอบเขตจำกัด โดยเฉพาะใน 4 สาขาหลัก ได้แก่ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรม และกิจการบริการอาหาร โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเผยว่าโอกาสเกิดวิกฤตการจ้างงานในอีก 4 ไตรมาสข้างหน้าอยู่ที่ 25.51%
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานในไตรมาสแรก ระบุว่า มีผู้มีงานทำรวม 39.38 ล้านคน โดยมีอัตราการว่างงาน 0.9% และจำนวนผู้ว่างงาน 357,731 คน แต่การชะลอตัวในภาคส่งออก การผลิต และการลงทุนอาจส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
การคาดการณ์การว่างงานและการเลิกจ้างในช่วง มิถุนายน – สิงหาคม 2568 แสดงให้เห็นว่าแม้ไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยการว่างงานจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 50,000 คน และการเลิกจ้างในช่วงนี้จะไม่เกิน 20,000 คน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับ
นอกจากนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า การพัฒนาทักษะแรงงานเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุน โดยชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของระบบแรงงานไทยที่ยังขาดทักษะตรงกับความต้องการตลาด จึงเสนอแนวทางในการพัฒนาทักษะแรงงานและดึงดูดการลงทุน ได้แก่
- ยกระดับทักษะ (Up- & Re-skilling) สร้างระบบฝึกอบรมร่วมกับ FDI เน้นสาขาเทคนิค เช่น AI, Automation, Logistics,
- ระบบรับรองทักษะสากล สร้าง “Certified Thai Workforce” ร่วมมือกับองค์กรต่างชาติ เช่น Amazon Web Services และ Siemens AG
- ระบบข้อมูล พัฒนา Labor Market Intelligence System (LMIS) เพื่อช่วยวางแผนการผลิตแรงงาน
- เชื่อมโยงกับ FTA และ GVCs ผูกนโยบายแรงงานกับข้อตกลงการค้า เช่น FTA กับสหรัฐฯ หรือผ่าน IPEF, RCEP
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“พิชัย” ชี้ไทยเดินเกมถูกทาง ลุ้นสหรัฐลดภาษีเหลือไม่เกิน 20% เทียบเท่าภูมิภาค
“ทีมไทยแลนด์” ยื่นข้อเสนอใหม่ ลดภาษีสหรัฐ หวังปิดดีล 18% สู้ศึกการค้าอาเซียน