“เครือซีพี” ติดท็อป 11 องค์กรธุรกิจยั่งยืน “WBCSD” ปี 2

“เครือซีพี” ติด 1 ในบริษัทชั้นนำระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำธุรกิจที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน


สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council on Sustainable Development-WBCSD) องค์กรระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย CEO ของธุรกิจชั้นนำ และมีสมาชิกทั่วโลกมากกว่า 250 องค์กร ได้เผยแพร่รายงาน Reporting Matters ประจำปี 66 พร้อมวิเคราะห์และประเมินผลการจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัทเอกชนจากทั่วโลกที่เป็นสมาชิก WBCSD

โดยในปีนี้ได้เปิดรายชื่อ 11 บริษัทชั้นนำที่จัดรายงานความยั่งยืนดีเด่น ซึ่งมี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP จากประเทศไทย ติด 1 ใน 11 บริษัทที่ได้รับคะแนนสูงสุด เนื่องจากมีความโดดเด่นในการจัดทำประเด็นสำคัญและมียุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนครอบคลุมทุกมิติ รวมถึงมีการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ เครือซีพี ได้รับการประเมินในระดับ Top Performer ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ทั้งนี้ในส่วนของ 11 บริษัทที่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้จัดทำรายงานความยั่งยืนดีเด่นระดับโลกประจำปี 66 ประกอบด้วย 1.CP-ประเทศไทย, 2.DSM-บริษัทข้ามชาติของเนเธอร์แลนด์ที่ดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพ โภชนาการ, 3.EDP-Energias de Portugal-บริษัทสาธารณูปโภคด้านไฟฟ้าของโปรตุเกส, 4.Enel S.p.A.-ผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติจากอิตาลี, 5.Eni S.p.A.-บริษัทสัญชาติอิตาลีในธุรกิจน้ำมันและแก๊ส

ส่วน 6.ERM-ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและบริการด้านความยั่งยืนจากสหราชอาณาจักร, 7.Mondi Group-บริษัทกระดาษและบรรจุภัณฑ์จากออสเตรีย, 8.Novartis-บริษัทยาชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์, 9.Philip Morris International SA-บริษัทผลิตบุหรี่และยาสูบสัญชาติอเมริกัน, 10.Solvay S.A.-ผู้ผลิตและจำหน่ายเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และพลาสติกของเบลเยี่ยม และ 11.Stora Enso Oyj-ผู้ผลิตเยื่อกระดาษของฟินแลนด์

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือซีพี กล่าวว่า รายงานความยั่งยืนถือเป็นเสาหลักสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากการสร้างความตระหนักรู้วางเป้าหมายกำหนดตัวชี้วัด การสื่อสารขององค์กรและการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นเนื้อเดียวกับการดำเนินธุรกิจ นับเป็นการส่งเสริมความโปร่งใสของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะจะนำไปสู่การเปรียบเทียบผลการดำเนินการปีต่อปี ทั้งของบริษัทและกับบริษัทอื่น ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และเกิดการตรวจสอบติดตามผล พร้อมทั้งลดความเสี่ยงของ Green Washing หรือการสร้างภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนเพื่อกลบเกลื่อนการประกอบธุรกิจที่ส่งผลในเชิงลบ ซึ่งสุดท้ายกลไกของความโปร่งใสจะก่อให้เกิดการแข่งขันการทำความดีหรือ Race to the Top

ด้าน นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือซีพี เปิดเผยว่า บริษัทภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ WBCSD ยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีติดท็อปองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก ในการจัดรายงานความยั่งยืนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยการคัดเลือกรายงานด้านความยั่งยืนทาง WBCSD ได้กำหนดเกณฑ์การประเมิน 3 ด้านหลักคือ Principles, Content และ Effectiveness

ทั้งนี้ เครือซีพี ได้รับการประเมินว่ามีการปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการกำหนดขอบเขตของรายงานที่ครอบคลุมทุกมิติด้านความยั่งยืนทั้งเศรษฐกิจ สังคมกับสิ่งแวดล้อม และได้มีการระบุรายละเอียดของมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำรายงาน

นายสมเจตนา กล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทได้รับการประเมินผลภาพรวมรายงานความยั่งยืนประจำปี 65 ที่เป็นแบบอย่างที่ดีมีความโดดเด่นใน 3 ด้านสำคัญคือ

1.มีกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืน (Materiality Assessment) ในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Double และ Dynamic มาประยุกต์ใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นด้านความยั่งยืนและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นตามสถานการณ์และช่วงเวลา

2.มียุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน รวมถึงแผนการดำเนินงาน มีการแสดงผลกระทบด้านการเงินและหลักฐานการดำเนินงานสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการประกาศเป้าหมายนำองค์กรสู่ Net Zero ในปี 93 ที่ชัดเจน โดยได้มีการจัดทำแผนกำหนดขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุม 3 ขอบเขตสำคัญทั้งระยะสั้นและยาว ถือเป็นสิ่งแสดงความมุ่งมั่นขององค์กรพร้อมสะท้อนความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะชนในวงกว้าง

3.มีการกระบวนการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยดำเนินการสำรวจความผูกพันของผู้มีส่วนได้เสียเป็นประจำทุกปีเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลเชิงลึกจากผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง อีกทั้งยังเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย

สำหรับปีนี้ เครือซีพี ได้เปิดตัวรายงานความยั่งยืนประจำปี 65 ภายใต้แนวคิด “ผู้นำด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” เพื่อเปิดเผยผลการดำเนินงานที่มุ่งมั่นและตั้งใจในการขับเคลื่อนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนสู่ปี 73 รวมทั้งสิ้น 15 เป้าหมาย ภายใต้กรอบการทำงาน 3 เสาหลัก คือ Heart-Health-Home ที่ครอบคลุมทุกมิติของความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมกับสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ องค์การสหประชาชาติ (SDGs)

โดยได้นำเสนอผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมทั้งในแง่ของความสำเร็จ และในด้านของความท้าทายที่เครือฯ และบริษัทในเครือฯ ต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแผนงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งในรายงานฉบับนี้เน้นย้ำไปที่การพัฒนาใหม่ๆ ของ เครือซีพี และความก้าวหน้าในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเป้าหมายยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังเปิดเผยผลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับบริบทการดำเนินงาน และผลกระทบภายนอกที่อาจมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงจัดการความเสี่ยงขององค์กร พร้อมทั้งผลจากการวิเคราะห์ได้รวมเข้าไปในกระบวนการประเมินประเด็นสำคัญด้านความยั่งยืนแบบ Double และ Dynamic ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหัวข้อความยั่งยืนที่มีความสำคัญ ทำให้สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียมีประสิทธิภาพดีขึ้น สามารถจัดการความเสี่ยง ระบุโอกาส และปรับปรุงการรายงาน พร้อมสร้างมูลค่าระยะยาวได้ดีขึ้น แนวทางนี้ทำให้บริษัทเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนผลกระทบเชิงบวก โดยลดผลกระทบเชิงลบทั้งต่อการดำเนินงานและสังคมในวงกว้าง

นอกจากนี้ บริษัทได้จัดทำรายงานเฉพาะเรื่องเพิ่มเติมอีก 6 ฉบับ ได้แก่ 1.Double and Dynamic Materiality Assessment Report 2022, 2.Stakeholder Engagement Report 2022, 3.Sustainability Performance Report 2022, 4.Sustainable Development Goals (SDGs) Report 2022, 5.Task Force on Climate-related Financial Disclosure (TCFD) Report 2022 และ 6.Biodiversity (TNFD) Report 2022 โดยปีนี้ถือเป็นปีแรกที่บริษัทได้จัดทำ Biodiversity (TNFD) Report 2022 ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงาน

Back to top button