TU ยกระดับสู่การเงินสีฟ้า

ถือว่า บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU เป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลไทยรายแรก ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล (Blue Loan)


ถือว่าบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารทะเลไทยรายแรก ที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเล (Blue Loan) วงเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,000 ล้านบาท) จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เป็นการปล่อยวงเงินกู้ Blue Loan จาก ADB ให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทยเป็นครั้งแรก..!!

นับเป็นประวัติศาสตร์ภาคการเงินที่สร้างมาตรฐานใหม่ต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตอกย้ำว่า TU มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน เตรียมพร้อมเพื่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

วงเงินกู้ด้านความยั่งยืนทางทะเลครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เงินกู้โดยตรงจาก ADB และเงินกู้ร่วมจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ ที่เป็นพันธมิตรทางการเงิน จากฮ่องกง 1 แห่ง (ธนาคารแห่งประเทศจีน) และสิงคโปร์ 5 แห่ง (ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC), ธนาคารเอ็มยูเอฟจี จำกัด (MUFG), ธนาคาร OCBC, ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น (SMBC) และธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (UOB))

โดยวงเงินกู้ดังกล่าว TU จะนำมาใช้เพื่อการยกระดับการจัดซื้อวัตถุดิบกุ้งที่เพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนในไทย สอดคล้องเป้าหมายด้านความยั่งยืนบริษัท และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ช่วงปลายปี 2564 จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) มีการออก Blue Bond (ตราสารหนี้สีฟ้า) เป็นครั้งแรก เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการเกี่ยวกับมหาสมุทรและทะเลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

โดย Blue Bond เป็นตราสารหนี้ที่ระดมทุน เพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ อาศัยหลักเกณฑ์การออกเช่นเดียวกับ Green Bond (ตราสารหนี้สีเขียวหรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระดมทุนใช้กับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์การใช้เงินเจาะจงเฉพาะโครงการเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น (บทความ Blue Bond ตราสารหนี้สีฟ้า เพื่อความยั่งยืนของทะเล Blue Bond ดังกล่าวมี 2 ชุดตามสกุลเงิน

ชุดแรกมูลค่า 208 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อายุ 15 ปี ขายทั้งจำนวนให้บริษัท Dai-chi Life Insurance (Citigroup Global Markets Limited เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย)

ชุดที่สองมูลค่า 217 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ประมาณ 151 ล้านดอลลาร์) อายุ 10 ปี เสนอขายแก่บริษัท Meiji Yasuda Life Insurance และมี Credit Agricole CIB เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย 

เงินทุนที่ได้จากการออก Blue Bond จะนำไปสนับสนุนโครงการ Greater Malé Waste-to-Energy กำแพงขวางทางพลาสติกและของเสียอื่น ๆ ไม่ให้ลงสู่มหาสมุทรของมัลดีฟส์ และโครงการ the Anhui Huangshan Xin’an River Ecological Protection and Green Development Project ของประเทศจีน ที่จะช่วยลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดไม่ให้ลงสู่ทะเลโดยส่งเสริมการทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและควบคุมการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ย เป็นต้น

ไม่ว่า Blue Bond หรือ Blue Loan ต่างถือเป็นส่วนหนึ่งของ Blue Finance การเงินเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กำลังกลายเป็นเมกะเทรนด์การเงินโลก เฉกเช่น Green Finance ที่มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่นับวันจะมีบทบาทกับสิ่งแวดล้อมการเงินโลกมากยิ่งขึ้น..!!??

เล็กเซียวหงส์

Back to top button