จับตา “ทีมไทยแลนด์” เจรจาภาษีสหรัฐ “จุลพันธ์” รับโจทย์ยาก-เชื่ออำนาจต่อรองไม่ด้อยเวียดนาม

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รัฐมนตรีช่วยคลัง เผยไทยยังอยู่ระหว่างเจรจามาตรการภาษีกับสหรัฐฯ อาจยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววัน เชื่ออำนาจต่อรองไม่ด้อยเวียดนาม


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจากับสหรัฐอเมริกาในประเด็นมาตรการทางภาษี โดยยอมรับว่า การเจรจาดังกล่าวอาจยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววัน และมีความเป็นไปได้ที่จะต้องมีการเปิดเวทีหารือเพิ่มเติม เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับทั้งสองฝ่าย

“เชื่อว่าสหรัฐฯ เข้าใจสถานการณ์ และอาจมีการขยายกรอบระยะเวลาในการบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ออกไปอีก ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยได้ใช้เวทีการเจรจาอย่างเต็มที่” นายจุลพันธ์กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมไทยแลนด์ ซึ่งนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้หารือกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เพื่อขอให้สหรัฐฯ พิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไทยจากอัตราเดิมที่ 36% โดยฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอไปก่อนหน้านี้ และได้รับสัญญาณตอบรับในเชิงบวกจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยผลการเจรจาอย่างเป็นทางการ

นายจุลพันธ์ย้ำว่า ไทยไม่ได้ตั้งสมมติฐานในเชิงลบว่าสหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงสุดดังกล่าว โดยตลอดช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการเจรจาในหลายระดับ และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

“ไทยรู้โจทย์ของสหรัฐฯ ชัดเจน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง พาณิชย์ เกษตรฯ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และเตรียมการล่วงหน้า เพื่อให้ไทยสามารถตอบโจทย์และปรับตัวได้อย่างเหมาะสม”

อย่างไรก็ดี นายจุลพันธ์ยอมรับว่า โอกาสที่จะกลับไปสู่อัตราภาษีก่อนหน้าที่ระดับ 10% อาจเป็นไปได้ยาก ภายใต้บริบททางเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคาดหวังว่าไทยจะสามารถเจรจาให้อยู่ในกรอบที่ใกล้เคียงกับระดับดังกล่าว

เมื่อเห็นผลการเจรจาของเวียดนามแล้ว ตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างน่ากังวล แต่ไทยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่ยาวนาน แม้อาจใช้เป็นแต้มต่อทางการเจรจาไม่ได้โดยตรง แต่ถือเป็นจุดแข็งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเราเชื่อว่าอำนาจต่อรองของไทยไม่ได้ด้อยกว่าเวียดนาม

เพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการภาษี และสถานการณ์สงครามการค้า รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 10,000 ล้านบาท จากกรอบงบประมาณรวม 115,000 ล้านบาท สำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และช่วยเหลือภาคเอกชน โดยเฉพาะการรักษาการจ้างงานและเสถียรภาพภาคการผลิต

เป้าหมายของเราคือ ลดผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มเปราะบางให้ได้มากที่สุด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง” นายจุลพันธ์ กล่าว

Back to top button