BANPU วิ่ง 5% รับข่าวสหรัฐเร่งปิดดีลการค้า ดันดีมานด์ก๊าซ ลุ้นครึ่งปีหลังสดใส

BANPU บวก 5% โบรกคาดแนวโน้มครึ่งปีหลังฟื้นตัวโดดเด่น จากราคาก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นตามกระแสดีลการค้าหลายประเทศ หนุนส่งออกพลังงาน พร้อมแรงแบงก์ชาติอินโด ลดดอกเบี้ย ดันเศรษฐกิจ-เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในภูมิภาค


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (18 ก.ค.68) ราคาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ณ เวลา 11:21 น. อยู่ที่ระดับ 4.72 บาท บวก 0.26 บาท หรือ 5.83% สูงสุดที่ระดับ 4.80 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.52 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 303.80 ล้านบาท

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย แนะนำลงทุนหุ้น BANPU ซึ่งปรับตัวขึ้นมากกว่า 5% ในเช้าวันนี้ โดยคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการครึ่งหลังปี 68 ของ BANPU น่าจะดีกว่าครึ่งแรก จากราคาก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็น 3.50-4.00 ดอลลาร์ จากการเจรจาการค้าของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ที่คาดว่าจะต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น โดยก๊าซธรรมชาติเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของสหรัฐฯ และ BANPU จะได้รับผลประโยชน์จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ

ขณะที่บทวิเคราะห์ของ บล.กรุงศรี ระบุว่า ธนาคารอินโดนีเซียตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25 ลงสู่ระดับ 5.25% นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้ง รวม 1% จากระดับสูงสุดปีที่แล้วที่ 6.25% ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเราที่คาดว่าประเทศในกลุ่ม EM เอเชีย มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเร็วกว่าสหรัฐฯ จากแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอลงเทียบกับสหรัฐฯ เสถียรภาพราคามีแนวโน้มได้รับแรงกดดันเงินเฟ้อจากมาตรการภาษีการค้า

มองการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายดังกล่าว ประกอบกับการที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มเป็นประเทศที่สามารถบรรลุดีลการค้ากับสหรัฐได้เป็นประเทศที่ 4 ต่อจาก สหราชอาณาจักร, จีน และเวียดนาม หนุนหุ้นที่มีธุรกิจในอินโดนีเซีย ได้แก่ BBL, SCGP, BANPU, SAPPE

โดยเมื่อวันที่ 16 ก.ค. ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 0.25% สู่ระดับ 5.25% ในการประชุมวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ขณะที่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนับเป็นครั้งที่ 4 ในวงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงินซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนก.ย. 67 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญกับการค้าโลกที่อ่อนแอลงและอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลง

Back to top button