THCOM หืดขึ้นคอ! บอร์ด “ดีอี” เปิดทางต่างชาติบริการดาวเทียมในไทย

THCOM หืดขึ้นคอ! บอร์ด "ดีอี" เปิดทางต่างชาติบริการดาวเทียมในไทย


นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผย ว่า การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ซึ่งมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ได้เห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary-Satellite Orbit: GSO) ตามที่คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบการจัดทำ (ร่าง) แนวทางฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นให้ประเทศไทยมีนโยบายที่กำหนดแนวทางในการรักษาตำแหน่งวงโคจรและข่ายงานดาวเทียมของประเทศที่ชัดเจน เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 60 ที่กำหนดให้ ‘รัฐต้องรักษาไว้ซึ่ง คลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน…’

รวมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีนโยบายอนุญาตให้ใช้งานดาวเทียมต่างชาติในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ผู้ประกอบการและผู้ใช้งานดาวเทียมสื่อสาร มีความต้องการใช้งานดาวเทียมต่างชาติเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้มีนโยบายและหลักเกณฑ์การขออนุญาตการใช้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศที่เหมาะสมและชัดเจน เพื่อกระตุ้นการสร้างบรรยากาศการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติ โดยผู้ประกอบการในประเทศจะต้องไม่เสียเปรียบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลไปกิจการดาวเทียมไปก่อนในช่วงที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ยังไม่มีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ เห็นชอบแผนการปรับปรุงโครงข่ายเพื่อรองรับเลขหมายโทรคมนาคม ระยะยาว ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยการติดตั้งระบบชุมสายในการแปลงเลขหมายโทรศัพท์จาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก เพื่อให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จในกำหนดระยะเวลาตามข้อตกลงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ภายในเดือนม.ค.2564

ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)

รวมถึงผู้เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อพิจารณาแนวทางการสร้างท่อร้อยสายสื่อสารดังกล่าว ซึ่งต้องมีข้อคำนึงถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินงานหลัก ๆ คือ การใช้โครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน การกำหนดราคาค่าธรรมเนียมการใช้พื้นที่ และการกำหนดราคาค่าเช่าท่อร้อยสายสื่อสารและการใช้โครงข่ายร่วมกันที่เหมาะสม

ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงอาจส่งผลกระทบต่อหุ้น บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ได้ เนื่องจาก THCOM เป็นผู้ให้ธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย

Back to top button