SAT บวกแรง 7% รับอานิสงส์ยอดส่งออกรถยนต์พ.ค.โตทะลัก 166%

SAT บวกแรง 7% รับยอดส่งออกรถยนต์เดือนพ.ค.โตทะลัก 166% ปักธงารายได้ปีนี้โต 25% รับออร์เดอร์ตปท.พุ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(24 มิ.ย.64) ราคาหุ้นบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT โดย ณ เวลา 15.09 น. อยู่ที่ระดับ 21.20 บาท บวก 1.4 บาท หรือ 7.07% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 146.40 ล้านบาท

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน พ.ค.64 อยู่ที่ 79,479 คัน เพิ่มขึ้น 165.87% จากเดือน พ.ค.63

โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงเนื่องจากฐานต่ำเมื่อปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 50.30% จากเดือน เม.ย.64 เพราะประเทศคู่ค้าเริ่มมียอดขายรถยนต์ในประเทศดีขึ้น เช่น ออสเตรเลียขายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมปีก่อน 68.3% เวียดนามขายในประเทศเพิ่มขึ้น 34.1% ญี่ปุ่นขายเพิ่มขึ้น 46.3% อินโดนีเซียขายเพิ่มขึ้น 1,443% เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออกยังลดลง 16.63% จากเดือน พ.ค.62

ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.64) อยู่ที่ 390,467 คัน โดยเพิ่มขึ้น 29.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าการส่งออก 221,429.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 39.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยก่อนหน้าด้านน.ส.นพมาศ ปานทอง ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ SAT เปิดเผยว่า บริษัทยังคงตั้งเป้ารายได้เติบโตที่ 20-25% หลังได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศ รวมไปถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบริษัทปรับเพิ่มประมาณการยอดผลิตรถยนต์ในประเทศไทยปีนี้ จาก 1.5 ล้านคัน เป็น 1.65-1.7 ล้านคัน เนื่องจากการส่งออกที่ดีขึ้น และทางด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรก็คาดว่าการผลิตในปีนี้จะกลับไปเทียบเท่าปี 62 ที่ 85,000 คัน หากไม่เจอปัจจัยภัยแล้ง

ด้านผลประกอบการในไตรมาส 2/64 คาดมียอดขายลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเดือนเม.ย.จะมีวันทำงานน้อยกว่าเดือนอื่นๆ แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจะมียอดขายที่เติบโตขึ้น เนื่องจากในไตรมาส 2/63 มีการหยุดสายการผลิตชั่วคราว เนื่องจากเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก

ทั้งนี้กลยุทธ์การดำเนินงานบริษัทยังคงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน มีการปรับเรื่องสายการผลิตต่างๆ โดยการใช้โปรแกรมและเทคโนโลยี รวมถึงการนำระบบ Robot and Automation มาใช้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการกระจายความเสี่ยงไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธุรกิจ Robot and Automation รวมไปถึงธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนา

สำหรับปัญหาราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้นทั่วโลกและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกในปีนี้ โดยบริษัทยังคงเดินหน้าเจรจาปรับราคากับลูกค้า ซึ่งจะมีรอบการปรับราคาอยู่ในช่วง 3-6 เดือน โดยส่วนมากสามารถเจรจาได้สำเร็จ คาดว่าน่าจะช่วยประคองอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทได้

ส่วนงบลงทุนปีนี้วางไว้ที่ 400 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ในการบำรุงรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเครื่องจักร เพื่อรองรับออเดอร์ที่กำลังจะทยอยเข้ามาอีกในอนาคต ราว 66% ของงบลงทุนรวม ที่เหลือจะใช้ในการปรับปรุงต้นทุนและประสิทธิภาพในด้านต่างๆ

Back to top button