KKP เด้ง 4% ลุ้นปีนี้ “สินเชื่อ” โต 16% -ยีลด์ 6% โบรกเคาะ “ซื้อ” เป้า 84 บ.

KKP เด้ง 4% ลุ้นปีนี้ “สินเชื่อ” โต 16% พร้อมกับเป็นธนาคารจ่ายปันผลสม่ำเสนอปีละ 2 ครั้ง คาดปี 65 จ่ายปันผล 3.8 บาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 6% ต่อปี ฟากโบรกแนะ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 84 บาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 5 ส.ค. 65) ราคาหุ้น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP ณ เวลา 12:25 น. อยู่ที่ระดับ 66.75 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 3.89% สูงสุดที่ระดับ 66.75 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 64.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 387.63 ล้านบาท

ริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ ( 5 ส.ค. 65) แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 84 บาท อย่างไรก็ตามในครึ่งแรกปี 65 กำไรอยู่ที่ 4,089 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ทำได้ดีกว่าคาด โดยคิดเป็น 61% ของประมาณการกำไรปี 65 พร้อมกับเป็นธนาคารที่จ่ายปันผลสม่ำเสนอ ปีละ 2 ครั้ง คาดปี 65 จ่ายเงินปันผล 3.8 บาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน 6% ต่อปี

สำหรับเชิงสัญญาณเทคนิคให้แนวต้าน 14 บาท แนวรับ 12.80 บาท และจุดตัดขาดทุน 12.30 บาท

ด้าน นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KKP เปิดเผยว่า ธนาคารปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมในปี 65 เพิ่มขึ้นเป็น 16% จากเป้าหมายเดิม 12% หลังจากครึ่งปีแรกทำได้ดีกว่าคาด โดยเติบโตสูงถึง 10% มาจากสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อมีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ที่เติบโตสูงถึง 12% จากความมั่นใจในเศรษฐกิจกลับมาหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และมีการเปิดเมืองทำให้ผู้คนกลับมาทำงานมีรายได้มากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันกลับมาฟื้นตัวได้ดี

อีกทั้งในครึ่งปีหลังนี้ธนาคารยังมองว่ากลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีหลักประกันยังจะเห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และบ้านยังสูง และลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง เป็นแรงหนุนหลักต่อการเติบโต แต่ธนาคารยังคงต้องมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพลูกหนี้ให้อยู่ในระดับที่ดี

ขณะที่ในกลุ่มของสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงมีการขอใช้สินเชื่อเพื่อลงทุนโครงการใหม่ๆอยู่บ้าง แต่ยังเป็นแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการต่างรอดูจังหวะของเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากให้ชัดเจนขึ้น ทำให้กลุ่มสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้คงยังไม่โดดเด่นมากนัก รวมถึงในช่วงครึ่งปีหลังด้วย

Back to top button