CIMBT มอง GDP ปี 59 โต 3.3% จากปีนี้คาดโต 2.7%

CIMBT มองเศรษฐกิจปี 59 โต 3.3% จากปีนี้คาดโต 2.7% โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ


นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 59 น่าจะอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและจะฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ จากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ค่อนข้างช้า ทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ขณะที่จีนมีการเติบโตในอัตราชะลอตัวลง มีเพียงสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจประเทศหลักประเทศเดียวที่ยังเติบโตได้อยู่ แต่ก็ไม่มากนัก

ทั้งนี้ ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 59 จะเติบโตได้ในระดับ 3.3% จากปีนี้ที่คาดจะขยายตัวได้ 2.7% ซึ่งจะเป็นการเติบโตทางเทคนิค โดยมีปัจจัยมากจากการเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาสินค้าส่งออก รวมถึงราคาสินค้าเกษตร อีกทั้งแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้น และส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอย และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงปลายปี 58 และต่อเนื่องมาถึงปี 59 เช่น มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านกองทุนหมู่บ้าน, มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ,มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต อย่างไรดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

นายอมรเทพ ยังประเมินว่า ค่าเงินบาทในปี 59 จะอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากปีนี้ เป็นผลมาจากการทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยด้วย ทำให้ต้องจับตามาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่จะเข้ามาดูแลกระแสเงินทุนไหลออก เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ

ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปี 59 มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ไปตลอดช่วงปีหน้า แต่ก็ยังมีโอกาสเล็กน้อยที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ได้ในช่วงปลายปี หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับขึ้นตามราคาน้ำมัน

“แม้เศรษฐกิจไทยจะถูกปัจจัยลบและปัจจัยเสี่ยงดึงรั้งไว้อยู่บ้าง แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 59 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้ฟื้นตัวตาม รวมถึงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน ผ่านการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งยังมีความต้องการสินค้าค่อนข้างมาก ทำให้สามารถช่วยชดเชยภาคการส่งออกของไทยที่ยังน่าเป็นห่วงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้บ้าง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย คือ จีน ที่ยังจะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยไปจนถึงปีหน้า แต่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯและตลาด CLMV ยังเป็นบวกได้”นายอมรเทพ ระบุ

สำหรับการส่งออกของไทยในปี 59 จะเติบโต 0% จากปีนี้ติดลบ 5% ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงอยู่ โดยเฉพาะประเทศจีน ที่อยู่ในช่วงของการปรับตัว ซึ่งน่าจะส่งผลเชิงลบต่อการส่งออกของไทยพอสมควร

ขณะที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยปีหน้าคาดจะอยู่ที่ระดับ 45 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากปีนี้ที่เฉลี่ย 50 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยให้จับตาดูการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นของประเทศซาอุดิอาระเบีย และการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นของอิหร่านที่อาจจะส่งผลต่ออุปทานล้นตลาด ทำให้กดดันราคาน้ำมัน

พร้อมกันนี้ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อยากให้จับตามอง 5C คือ

1.China โดยจีนยังคงชะลอตัว เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งกำลังการผลิตส่วนเกินสูงในบางอุตสาหกรรม ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ภาคการเงินมีหนี้เสียมาก และรัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้ก้อนโต รวมไปถึงการเดินหน้าปฎิรูปเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

2.Commodity หรือระดับสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงราคาน้ำมัน ซึ่งบางประเทศพึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จึงได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นหากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับลดลงค่อท่ามกลางภาวะอุปทานน้ำมันยังสูง ขณะที่อุปสงค์ที่มีต่อน้ำมันยังต่ำ เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะอยู่ในภาวะฝืดเคือง

3.Currency War หรือสงครามค่าเงิน แม้ว่าสหรัฐฯจะปรับขึ้นดอกเบี้ย หลายประเทศยังไม่สามารถส่งออกได้ จำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติม

4.Confidence หรือความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ แม้ว่าความเชื่อมั่นจะกลับมา เศรษฐกิจเริ่มฟื้นจากการลงทุนภาครัฐ แต่ความเชื่อมั่นจะเป็นความเสี่ยงเมื่อความเชื่อมั่นอยู่ในระดับต่ำ กระทบกับการบริโภคและการลงทุนเอกชน

5.Constitution หรือรัฐธรรมนูญ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติจะมองเรื่องนี้เป็นหลัก จึงอาจมีผลต่อการเจรจาเรื่องการค้าเสรีหรือการสนับสนุนทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะกับชาติตะวันตก รวมทั้งต้องดูว่าการเมืองใหม่จะนำมาซึ่งความปรองดองในระยะ

Back to top button