เส้นทางนักลงทุน : NPL กลุ่มแบงก์ยังไม่สุด

ตัวเลขผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ในไตรมาส 2 ปี 60 และครึ่งแรกปี 60 ออกมาแล้วเป็นสัญญาณชัดว่ากลุ่มแบงก์ใหญ่มีผลประกอบการหรือตัวเลขกำไรสุทธิที่ถดถอย แม้ว่าบางแบงก์ยังมีอัตราการเติบโต แต่ก็เป็นลักษณะทรงตัว


ไม่เพียงเท่านั้นกดดันภาพรวมผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ในไตรมาส 2 ปี 60 กำไรสุทธิรวม 4.57 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 59 รวม 5.03 หมื่นล้านบาท ส่วนครึ่งแรกปี 60 กำไรสุทธิรวม 9.76 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.56% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกปี 59 รวม 9.82 หมื่นล้านบาท

สาเหตุที่ผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทรุดในไตรมาส 2 ปี 60 เพราะมีบางรายการที่เป็นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กลายเป็นหนี้เสีย ทำให้การตั้งสำรองอาจเกิดขึ้นมากกว่าไตรมาส 1 ปี 60 ผลประกอบการธนาคารบางแห่งจึงลดต่ำลง

เช่น กรุงไทย กำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2560 ทำได้ 11,759.90 ล้านบาทลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16,230.97 ล้านบาท ซึ่งลดลงมามาก มาจากตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นกว่า 4.97 พันล้านบาท สูงขึ้น 30% รองรับปัญหาหนี้เสียลูกหนี้รายใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ที่ผลดำเนินงานอ่อนแอลง

ขณะที่เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลขึ้นมาอยู่ที่ 4.33% ของสินเชื่อรวม เนื่องจากมีลูกหนี้รายใหญ่ ทั้ง บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่มูลหนี้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ธนาคารตั้งสำรองเต็มจำนวน

รวมถึงกลุ่มโรงสีข้าวที่ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้ไตรมาส 2 มีอัตราส่วนตั้งสำรองลูกหนี้ต่อ สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 112.50 รวมทั้งได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้ โดยแยกกลุ่มลูกหนี้ที่ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ออกมาให้ชัดเจน เรียกว่าเข้าไปบริหารจัดการเชิงรุกมากขึ้น

ถือเป็นเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

แม้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวดีขึ้น มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งออกที่ดี แต่ ธปท.ยังจับตาเอ็นพีแอลใกล้ชิด เพราะการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่กระจายตัวนัก

บางภาคธุรกิจได้รับผลกระทบสะสม อาจทำให้ทิศทางเอ็นพีแอลขยับขึ้นได้ แต่ไม่น่ากังวลเพราะธนาคารยังมีเงินสำรองสูง ยังมีกำไรให้ตั้งสำรองเพิ่มเติมได้อย่างที่เห็นในไตรมาส 2 ปี 60

สำหรับตัวเลขเอ็นพีแอลทั้งระบบอยู่ที่ 403,080 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.53% จากงวดเดียวกันของปี 2559 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ภาคธุรกิจ

ส่งผลให้หลายธนาคารตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยาในไตรมาส  2 ปี 60 ตั้งสำรอง 5,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 3.7% ขณะที่ธนาคารกรุงไทยมีการตั้งหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนจากการด้อยค่า 13,878 ล้านบาท เพิ่มไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 6,137 ล้านบาท  79.28%

ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ของหลายธนาคารในช่วงไตรมาส 2/60 (สิ้นเดือนมิถุนายน) มีอัตราส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เทียบกับสิ้นสุดปี 2559 อย่าง BBL, TMB,  TISCO, KKP, LHBANK และ CIMBT ตัวเลขดูจากตาราง ซึ่งเกิดจากลูกหนี้เงินกู้ของสถาบันการเงินต่างๆ โดยเฉพาะลูกค้า SME และบางแบงก์ยังมีลูกค้ารายใหญ่ที่กู้ไป ไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับสถาบันการเงินที่ปล่อยให้กู้ระยะเวลาเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป โดยหลังๆ เกิดขึ้นมากพอสมควร

ดังนั้นสถานการณ์ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของบรรดากลุ่มแบงก์ยังอยู่ในทิศทาง “ขาขึ้น” ต่อไป โดยที่หลายแบงก์จะออกมายืนยันว่า สถานการณ์เอ็มพีแอลจะพีคหรือพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาส 3-4 นี้อย่างแน่นอน

Back to top button