เล่น BKD ลุ้นเป็นเด้ง !?!

เซ็นรับงานมูลค่า 3 พันล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับบริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD ในส่วนงานตกแต่งภายในและสถาปัตย์ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “ลอยคำ เรสซิเดนเชียล คอมมูนิตี้” ในเมียนมา


สำนักข่าวรัชดา

เซ็นรับงานมูลค่า 3 พันล้านบาทไปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับบริษัท บางกอก เดค-คอน จำกัด (มหาชน) หรือ BKD ในส่วนงานตกแต่งภายในและสถาปัตย์ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “ลอยคำ เรสซิเดนเชียล คอมมูนิตี้” ในเมียนมา

ถือเป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าสูงสุด นับแต่ก่อร่างสร้างบริษัทฯ ขึ้นมา โดยจะเริ่มบุ๊กรายได้ส่วนนี้เข้ามาอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปีหน้า คือ 2562 ไปจนถึงปี 2564

คิดให้ง่าย ไม่สลับซับซ้อน ก็ตกปีละประมาณ 1 พันล้านบาทกลม ๆ…

ย้อนดูรายได้ของ BKD ตั้งแต่ปี 2557 อยู่ที่ 906.83 ล้านบาท ถัดมาปี 2558 อยู่ที่ 1.15 พันล้านบาท ต่อมาในปี 2559 อยู่ที่ 1.37 พันล้านบาท จนมาถึงปีที่แล้ว คือปี 2560 อยู่ที่ 1.89 พันล้านบาท เรียกได้ว่าขยายตัวขึ้นทุกปี

แต่มูลค่างานที่ได้รับมาล่าสุดนี้ แค่โครงการเดียวก็ปาเข้าไปเกินครึ่งของรายได้ทั้งปีของปีที่แล้ว และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของรายได้ทั้งปี เฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปี อีกด้วย

กระนั้น อัตรากำไรหรือ “มาร์จิ้น” ยังคงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะแม้รายได้จะเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ แต่หากกำไรไม่โตตาม ก็ถือว่าไร้ประโยชน์ต่อราคาหุ้น ใช่หรือไม่ ??

สำรวจดูอัตรากำไรสุทธิของภาพรวม ย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ที่ 10.41% 13.79% 5.77% และ 17.56% ตามลำดับ ขณะที่ตัวเลข “เน็ตมาร์จิ้น” ล่าสุด ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/2561 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 19.55%

เป็นที่น่าสนใจเมื่อผู้บริหารสาว “แป้ง” ณัฐนันท์ ประสงค์ชัยกุล ทายาทหนึ่งเดียวของ “มาดามฉลาม” ผู้ก่อตั้ง BKD ประกาศชัดถ้อยชัดคำว่า “มาร์จิ้นงานต่างประเทศ(ขั้นต้น)ต้องสูงกว่างานเมืองไทย !!”

ไฮไลต์มันจึงอยู่ที่ว่าตัวเลขทั้งหมดข้างต้น ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการรับงานภายในประเทศ

ฉะนั้นจะสามารถตีความได้หรือไม่ว่า “มาร์จิ้น” จากโครงการลอยคำฯ ในเมียนมา มูลค่า 3 พันล้านบาทจะอยู่ในระดับที่สูง(กว่า) จนเพียงพอทำให้กำไรสุทธิในภาพรวมของ BKD สามารถขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงประมาณ 3 ปี ต่อจากนี้ ??

คงตั้งไว้เป็นเพียงคำถาม เพราะผู้บริหารบอกได้เพียงแค่ว่ามาร์จิ้นเมืองนอกจะสูงกว่าบ้านเรา…

แต่หากคิดต่อไป ด้วยการถอดสมการคณิตศาสตร์แบบพื้น ๆ บนสมมติฐาน มาร์จิ้นโครงการเท่ากับตัวเลขล่าสุด คือ 19.55% และรายได้ปีละ 1 พันล้านบาท นั่นหมายถึงกำไรสุทธิของ BKD จะเพิ่มขึ้นราว 195.5 ล้านบาทในปี 2562 และตลอดไปจนสิ้นสุดระยะเวลาโครงการ คือปี 2564

ทีนี้ เมื่อนำเอาตัวเลขกำไร(สมมติ)ในส่วนเพิ่มเติมที่ 195.5 ล้านบาท มาหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท คือ 1,076,210,468 หุ้น ก็จะเท่ากับเป็นกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ประมาณ 0.18 บาท แล้วสมมติอีกว่า อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ หรือ “ค่าพี/อี” คงเดิมที่ระดับล่าสุด คือ 31.37 เท่า

เมื่อนำทั้งสองส่วนมาคูณกัน ราคาหุ้น BKD ควรจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ ? คงเป็นปริศนาที่(ไม่)ดำมืด และไม่ยากสำหรับการถอดรหัสสักเท่าใดนัก

ส่วนที่ว่าอัตรากำไรสุทธิและ “พีอีเรโช” ที่ระดับดังกล่าวอาจแลดูเว่อร์จนเกินไป เพราะอาจมีการรวมในส่วนของกำไรพิเศษ หรือมีในส่วนของ “มันนี่เกม” อย่างเรื่องการแจกวอร์แรนต์ และการขายหุ้นเพิ่มทุนราคาสูงเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คงต้องลองปรับลดหลั่นตัวเลขลงมาตามสัดส่วน…สุดแล้วแต่เห็นเหมาะสม

!!แต่อย่าลืมว่า อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit Margin ซึ่งเป็นตัวเลขจริง(ไม่ได้สมมติ) ที่ประกาศออกมาแล้วในงบไตรมาส 2/2561 อยู่สูงถึง 30.01% ขณะที่ “พีอีเรโช” และ “เน็ตโปรฟิตมาร์จิ้น” เฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปี (2557-2560) ก็อยู่สูงถึง 29.66 เท่า และ 11.88% อีกต่างหาก !!

อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงที่ว่างานตกแต่งโครงการลอยคำฯนี้ เป็นงานที่มีมูลค่าสูงสุดสำหรับ BKD ตั้งแต่เคยรับงานมา นั่นอาจเป็นตัวสะท้อนถึงข้อจำกัดบางอย่าง โดยเฉพาะในแง่ของกำลังการผลิต

ความหมาย คือ BKD อาจต้องทุ่มสรรพกำลังปริมาณมากไปที่ประเทศเมียนมา จนอาจส่งผลให้ต้องลดงานในประเทศลงบางส่วน

แต่ผลงานในอดีตถือเป็นที่ประจักษ์ว่า BKD สามารถสร้างผลตอบแทนได้คุ้มค่า เมื่อรับงานที่บริษัทฯมีความถนัดทุกครั้งไป ซึ่งครั้งนี้ งานตกแต่ง…ก็ถือเป็นเรื่องถนัดมือที่สุด ฉะนั้นคงต้องติดตามดูผลงานกันสักหน่อย

ประกอบกับ บริษัทฯได้ฤกษ์เตรียมพร้อมบันทึกรายได้ จากการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำประปาที่ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งโบรกเกอร์แถวหน้าอย่าง “ฟินันเซียฯ” ก็ประเมินธุรกิจในส่วนนี้ว่าจะเพิ่มมูลค่าหุ้นให้กับ BKD อีกถึง 0.80 บาท

ฉะนั้น ติดตามอย่าได้กะพริบตา โดยเฉพาะในส่วนงานที่เมียนมา ว่าจะส่งผลให้ราคาหุ้น BKD ปรับตัวขึ้นตามมูลค่าเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ มากน้อยเพียงใด หรือไม่ ??

“มูลค่าเพิ่มราคาหุ้น = (พีอีเรโช x กำไรต่อหุ้น)”

สบายใจจะใช้ “ค่าพี/อี” และ “อัตรากำไรสุทธิ” เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขล่าสุด ตามค่าเฉลี่ย หรือเอาต่ำสุดเมื่อปีที่แล้ว คือ 7.73 เท่า และ 5.77% เมื่อปี 2559 ก็สุดแล้วแต่จะปรารถนา

!!แต่อย่าลืมสูตรนี้นะจ๊ะ!! มิเช่นนั้นอาจเสียใจภายหลัง…

อิ อิ อิ

Back to top button