พาราสาวะถี

หากเป็นแค่ความผิดพลาดมันยังอาจที่จะพอแก้ไข แก้ตัวกันได้ แต่เมื่อเป็นความล้มเหลวมันจึงหาหนทางที่จะกลับมาสู่แนวทางที่ควรจะเป็นได้ยาก


หากเป็นแค่ความผิดพลาดมันยังอาจที่จะพอแก้ไข แก้ตัวกันได้ แต่เมื่อเป็นความล้มเหลวมันจึงหาหนทางที่จะกลับมาสู่แนวทางที่ควรจะเป็นได้ยาก โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน กรณีวัคซีนโควิด-19 เห็นชัดเจนว่ายังมะงุมมะงาหรากันอยู่ มุ่งมั่น โพนทะนากันแต่การเซ็นสัญญาซื้อยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ จะมีเพียงพอฉีดได้ครบตามจำนวนที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยไม่ได้ดูสถานการณ์วิกฤติเฉพาะหน้าว่ามันรอได้เช่นนั้นหรือไม่

ปัจจุบันทีมโฆษกทั้งหลายของฝ่ายกุมอำนาจต่างพากันสนุกสนานกับตัวเลขของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนอ้างว่าเกินหลัก 20 ล้านรายไปแล้ว และจะเป็นไปตามเป้าแน่นอน แต่ลืมไปว่าตัวเลขที่เล่นแร่แปรธาตุกันอยู่นั้น มันมีผลสัมฤทธิ์ในแง่ของการป้องกันโรคสำหรับประชาชนได้หรือไม่ บางคนเพิ่งได้ฉีดเข็มแรกและที่ไม่ได้ฉีดมีอีกจำนวนมาก ขณะที่คนที่ฉีดเข็มสองไปแล้วแต่เป็นวัคซีนคุณภาพต่ำอย่างซิโนแวค คนเหล่านี้ไม่ได้ดีใจว่าจะอยู่รอดปลอดภัยภายใต้การระบาดของโควิดเดลต้าเวลานี้

กรณีดังกล่าว นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความรู้ตามหลักวิชาการที่เป็นมุมของหมออาชีพไม่ใช่หมอการเมืองอย่างน่าสนใจ เวลาดูวัคซีนว่าฉีดได้พอหรือยัง ให้ดูที่จำนวนคนที่ได้เข็มสอง อย่าเพิ่งดีใจกับเข็มแรกว่าฉีดไปได้มาก การตามเก็บเข็มที่สองในผู้สูงอายุกับคนที่มีโรคประจำตัวที่อยู่ในบ้านที่ไม่สามารถออกไปฉีดนอกบ้านไม่ได้ สำคัญที่สุด ในที่ที่มีการระบาดสูง เช่น กทม.ต้องเน้นจำนวนครอบคลุมเข็มที่สอง

แต่ประเด็นที่ฝ่ายกุมอำนาจโดยเฉพาะศบค.ต้องมีความชัดเจน ซึ่งหมอโอภาสตั้งข้อสังเกตก็คือ กลุ่มที่น่าจะมีปัญหาแบบระเบิดเวลาในอีกไม่นาน นั่นก็คือกลุ่มคนที่ได้วัคซีนซิโนแวคไปสองเข็มไประยะหนึ่ง ตอนนี้ภูมิเริ่มตก จะติดเชื้อและนอนโรงพยาบาลเนื่องจากมีปอดอักเสบ กลุ่มนี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่รีบได้เข็มที่สาม จะเป็นแอสตร้าเซนเนกา หรือไฟเซอร์ก็ได้ ตรงนี้ไงที่ยังไม่มีคำตอบที่จะสร้างความเชื่อมั่นหรือสบายใจให้กับคนกลุ่มนี้

ต้องอย่าลืมเป็นอันขาดว่า คนกลุ่มที่ไปฉีดวัคซีนซิโนแวคสองเข็มที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้านั้น เป็นการตัดสินใจตามการโฆษณาชวนเชื่อของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและบรรดาลิ่วล้อโดยเฉพาะหมอขี้ข้าการเมืองทั้งหลาย ที่อ้างว่าภายใต้สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ฉีดวัคซีนอะไรก็ได้สามารถที่จะลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ แต่พอเกิดการกลายพันธุ์และพิสูจน์ได้ว่าคนที่ฉีดซิโนแวคสองเข็มไปแล้ว ไม่สามารถป้องกันโควิดเดลต้าได้ ฝ่ายกุมอำนาจกลับไม่ได้มีความชัดเจนที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

กลายเป็นว่าได้ฉีดสองเข็มไปแล้ว จะไปขอฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อกลายพันธุ์อย่างแอสตร้าฯ ไม่ได้ ขณะที่การบูสเข็มสามให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เป็นการตอกย้ำความผิดพลาดล้มเหลวในวิสัยทัศน์และกระบวนการบริหารจัดการของฝ่ายกุมอำนาจนั้น ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนไปว่า แล้วประชาชนที่เสียสละหรือให้ความร่วมมือต่อภาครัฐทั้งที่ไม่ได้มีความมั่นใจอะไรได้นั้น จะได้รับการดูแลอย่างไร

การบอกว่าต้องรอปลายปีหรือไม่ก็ต้นปีหน้า จึงจะเกิดความชัดเจน ก็เท่ากับว่าคนเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงไม่ต่างอะไรจากคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ในเมื่อทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนแล้วว่าภูมิคุ้มกันที่มีจะลดลงเรื่อย ๆ ยิ่งนานวันภูมิที่มีจะเหลือน้อยจนแทบไม่เกิดประโยชน์อะไร และในช่วงเวลาที่อ้างว่าจะมีการบูสเตอร์ให้นั้น หากไม่มักง่ายและยึดหลักทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็ควรต้องตรวจสอบด้วยว่า คนเหล่านั้นยังมีภูมิที่จะฉีดแค่เข็มที่สาม หรือต้องเริ่มต้นฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นกันใหม่

ฟัง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงไปเมื่อวันเสาร์ยิ่งวังเวง เหมือนมีความชัดเจนที่ไม่ชัดเจน กับการระบุว่าสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัคซีน จะมีการหารือประเด็นฉีดเข็มสามให้กับประชาชนทั่วไปที่ฉีดซิโนแวคสองเข็มไปแล้ว คาดว่ามีโอกาสที่คนเหล่านี้จะได้รับเข็มกระตุ้นน่าจะไม่เกินปลายปีนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะมีวัคซีนมากขึ้น ทั้งแอสตร้าเซนเนกา และไฟเซอร์ แต่ต้องเป็นไปตามลำดับ

นั่นหมายความว่า ยังมีความไม่แน่นอน เพราะจนปัญญาด้วยการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีดให้กับประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะที่เกี่ยวข้องไร้สติปัญญา วิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการวัคซีน จึงต้องเร่งผลักดันให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมคุ้มกะลาหัว ด้วยการพลิกแพลงยัดไส้ในการไปแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อแทนการออกเป็น พ.ร.ก. เพราะเกิดกระแสต่อต้าน

คิดกันได้เท่านี้ นอกจากจะไม่แสดงความรับผิดชอบแล้วยังหาทางเอาตัวรอดกันแบบหน้าด้าน ๆ ต่างกันกับประเทศในภูมิภาคอย่างฟิลิปปินส์ที่สภาพทางการเมืองก็ไม่ได้ต่างจากประเทศไทย แต่ว่ากับสถานการณ์โควิดและเรื่องวัคซีน ผู้นำและผู้ที่เกี่ยวข้องที่นั่นมองไปถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ เห็นได้จากข่าวที่ออกมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้กันงบประมาณพิเศษไว้ระมาณ 28,000 ล้านบาทในงบประมาณประจำปี 2022 สำหรับใช้ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยเฉพาะ

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปจากทางกระทรวงสาธารณสุขฟิลิปปินส์ว่า มีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 หรือไม่ แต่ก็มีการกันงบประมาณดังกล่าวไว้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้จัดซื้อวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชากรฟิลิปปินส์ทั้งประเทศ นอกจากนี้ ทางการฟิลิปปินส์ยังได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินไว้ถึง 8 ยี่ห้อ รวมทั้งวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ อย่าง ไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดอร์นา ซึ่งสหรัฐอเมริกาประกาศว่าจะใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนทั่วไปตั้งแต่เดือนกันยายนนี้

นี่แหละคือความแตกต่าง อย่าคิดว่ามีแบ็กอัพดีแล้วฉันทำอะไรก็ได้ อย่าคิดว่าองค์กรตรวจสอบทั้งหลายคือลูกไล่ที่ไม่กล้าหือกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและลิ่วล้อ เพราะปลายทางหากสถานการณ์ต่าง ๆ เลวร้ายลงเรื่อย ๆ ก็ไม่แน่ใจว่า ที่หนุนหลังกันอยู่นั้นจะแบกรับกันต่อไปไหวหรือไม่ ส่วนการที่ได้เห็นผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจออกจากบ้านไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามสองสามแห่ง ก็ต้องถามดัง ๆ ว่า เจตนาไปเพื่อรับรู้ปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้น หรือเพื่อสร้างภาพกลบการถูกเย้ยหยันจากคนแดนไกลกันแน่

Back to top button