ITEL อนาคตยังดูดี!

ITEL ถือว่ามีความสอดรับไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก


คุณค่าบริษัท 

หากพูดถึงบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ถือว่าธุรกิจมีความสอดรับไปกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หลังหน่วยงานหลายภาคส่วนเริ่มมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กันมากขึ้น

เหตุดังกล่าวทำให้ ITEL จะรับอานิสงส์ต้น ๆ เพราะถือว่าบริษัทมีควบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจ Installation ซึ่งเป็นการให้บริการติดตั้งโครงข่ายโทรคมนาคม, ธุรกิจ Data Service เป็นการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม และธุรกิจ Data Center เป็นการให้บริการพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์นั่นเอง

ขณะเดียวกัน ทางผู้บริหาร ITEL ยังคงเป้าหมายรายได้รวมปี 2564 คาดแตะ 2,800 ล้านบาท ถึงแม้ช่วงครึ่งแรกปี 2564 รับรู้รายได้เข้ามาเพียง 1,009 ล้านบาท (คิดเป็น 36% ของเป้ารายได้รวมทั้งปี) แต่คาดช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นอกจากรายได้ที่จะรับรู้ราว 900 กว่าล้านบาท จากจำนวนสัญญาที่มีอยู่ในมือแล้ว ทางบริษัทยังคาดหวังการรับรู้รายได้ส่วนที่เหลือจากงานใหม่ ๆ ที่คาดจะมีเข้ามา ซึ่งปัจจุบันมีงานที่บริษัทชนะการประมูลและอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญากว่า 1,200 ล้านบาท

รวมถึง Potential ของงานในอนาคตที่บริษัทอยู่ระหว่างรอการประมูลไม่ว่าจะเป็นงาน USO-TOT และ Course Online ควบคู่กับการหาลูกค้าใหม่ ๆ เพิ่มเติมในส่วนของธุรกิจ Data Service และ Data Center ที่มีการเจรจากันอยู่ ขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้ขึ้นไปแตะระดับ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตรายได้เฉลี่ยปีละ 15.6% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2569

นอกจากนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและความน่าสนใจจากการเข้ามาถือของกองทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสภาพคล่องจากการซื้อขายให้มีมากขึ้น นอกจากการมีมติอนุมัติย้ายหลักทรัพย์ ITEL จากตลาด mai เข้าซื้อขายในตลาด SET ที่เบื้องต้นคาดจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2564

ประกอบกับอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่บริษัทกำลังดำเนินการอยู่คือ การเพิ่มทุนด้วยการออกวอร์แรนต์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ให้เหมาะสม พร้อมทั้งลดปัญหาค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ถือเป็นปัจจัยกดดันผลดำเนินงาน ITEL เฉลี่ยแต่ละไตรมาสราว 30-40 ล้านบาท รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการขยายธุรกิจในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XW ในวันที่ 9 ก.ย. 2564 เพื่อออก ITEL-W3 โดยจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งนับรวมถึงผู้ที่จะได้รับหุ้นเพิ่มทุนจากการใช้สิทธิแปลงสภาพ ITEL-W2 ที่ปัจจุบันการใช้สิทธิเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 และจะเริ่มเข้ามาซื้อขายในวันที่ 7 ก.ย. 2564 ในอัตราส่วน 4 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะสามารถซื้อได้ 1 หุ้นที่ราคาใช้สิทธิ 3.30 บาท

ทั้งนี้ ทางบล.ฟิลลิป ปรับลดประมาณการรายได้รวมปี 2564 เป็น 2,179 ล้านบาท (จากเดิม 2,413 ล้านบาท) หลังกังวลต่อความล่าช้าในการเซ็นสัญญาที่อาจทำให้รับรู้รายได้ไม่ทันปีนี้ หากแต่ปรับกำไรสุทธิขึ้นเป็น 250 ล้านบาท หลังคาดค่าใช้จ่ายทางการเงินมีโอกาสปรับลงจากการนำเงินที่ได้จากการแปลงสภาพไปชำระเจ้าหนี้

ขณะที่ แนวโน้มผลดำเนินงานปี 2565 คาดเติบโตแตะ 330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ภายใต้สมมติฐานรายได้รวมคาดโต 23.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน บวกกับค่าใช้จ่ายทางการเงินที่ลดลงต่อและเพื่อสะท้อนต่อจำนวนหุ้นที่คาดจะเพิ่มขึ้นจากการใช้สิทธิแปลงสภาพทั้ง ITEL-W2 และ ITEL-W3 เบื้องต้นประเมินจำนวนหุ้นสิ้นปี 2564 และปี 2565 จะอยู่ที่ 1,250 ล้านหุ้น และ 1,350 ล้านหุ้น ตามลำดับ

ดังนั้น ส่งผลทำให้ราคาพื้นฐานปี 2565 ใหม่ปรับเพิ่มเป็น 4.88 บาท (จากเดิม 4.56 บาท) ทั้งนี้ ณ ราคาหุ้นปัจจุบันพบว่ายังมีส่วนต่างจากราคาพื้นฐาน จึงปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ทยอยซื้อ” จากเดิม “ถือ”

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

  1. บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) 599,998,600 หุ้น 60.00%
  2. นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ 43,494,000 หุ้น 4.35%
  3. นายศึกษิต เพชรอำไพ 23,433,000 หุ้น 2.34%
  4. นางชลิดา อนันตรัมพร 16,778,198 หุ้น 1.68%
  5. นายนเรศ งามอภิชน 15,000,000 หุ้น 1.50%

รายชื่อกรรมการ

  1. นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริษัท, กรรมการอิสระ
  2. นายสมบัติ อนันตรัมพร รองประธานกรรมการ
  3. นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร, กรรมการ
  4. ดร.บัณฑิต รุ่งเจริญพร กรรมการผู้จัดการ
  5. นางชลิดา อนันตรัมพร กรรมการ

Back to top button