SCGP ปฏิบัติการกำจัดจุดอ่อน

ในวงการรู้ดีว่าธุรกิจกระดาษทำรายได้และกำไรให้กลุ่มปูนใหญ่ หรือ SCC มากแค่ไหนแล้วใคร ๆ ก็รู้อีกเช่นกันว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้นมาแรงแค่ไหน


ใคร ๆ ในวงการรู้ดีว่าธุรกิจกระดาษทำรายได้และกำไรให้กลุ่มปูนใหญ่ หรือ SCC มากแค่ไหน

แล้วใคร ๆ ก็รู้อีกเช่นกันว่า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้นมาแรงแค่ไหน ในยามที่ธุรกรรม E&M-commerce กลายเป็นธุรกรรมของคนร่วมสมัย จนทำท่าจะแซงหน้าของพฤติกรรมอื่น ๆ

เพียงแต่คำว่า “ใคร ๆ ก็รู้” นี่แหละทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างเครือข่ายของ SCC ที่แยกตัวออกมาแต่งตัวระดมทุนในตลาดหุ้นเมื่อ 2 ปีเศษในนาม SCGP หรือ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง แล้วกลายเป็นดาวดวงเด่นในกลุ่มธุรกิจนี้ทันที

ด้วยกำไรนิวไฮทุกปี หรือเกือบทุก ๆ ไตรมาส กลายเป็นหุ้นที่ราคาวิ่งหนีบุ๊กแวลูต่อเนื่อง แม้จะจ่ายปันผลไม่มาก และอัตรากำไรสุทธิไม่โดดเด่นมากมาย

ปีนี้ แม้สถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงเกินคาด ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบความสามารถทำกำไรของ SCGP แต่อย่างใด กำ ไรสองไตรมาสแรกที่มากถึงระดับ 4.397 พันล้านบาท เทียบกับตลอดทั้งปีของปีก่อน 6.457 พันล้านบาท ทำให้มีการประเมินแบบข้ามช็อตว่า น่าจะกำไรสุทธิที่ 9.20 พันล้านบาท แล้วปีหน้าก็คาดว่า จะยังคงเป็นกำไรขาขึ้นที่ระดับ 1.11 หมื่นล้านบาท

ความสำเร็จของ SCGP ดังกล่าวเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์เติบโตทางลัดด้วยวิศวกรรมการเงินสไตล์ค่ายนี้เองที่เรียกว่า M&P ที่มีการผนวกกิจการฉันมิตร (ถ้ายินยอม) หรือร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ

เพื่อให้เป้าหมายบรรลุ ปฏิบัติการ M&P จึงเริ่มต้นในตลาดต่างประเทศ ด้วยการผูกมิตรกับหุ้นส่วนในตลาดใหญ่สุดของอาเซียน แล้วให้บริษัทดังกล่าวเดินหน้ารุกเข้าซื้อกิจการแทน

SCGP สร้างค่ายกลด้วยการตั้งบริษัท กลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด (หรือ TCG) ซึ่ง เป็นการร่วมทุนระหว่าง SCGP และทุนท้องถิ่น Rengo Company Limited ที่สัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับ แล้วตั้งบริษัทย่อย TCG Solutions Pte. Ltd. ที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย TCG เข้าซื้อกิจการ 75% ใน Intan Group (ประกอบด้วย PT Indonesia Dirtajaya Aneka Industri Box,   PT Bahana Buana Box, และ PT Rapipack Asritama) ด้วยวงเงิน 2.1 พันล้านบาท (แจ้งตลาดฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. แล้วมีการชำระค่าหุ้น เพื่อเริ่มแสดงผลประกอบการ Intan Group ในงบการเงินรวมของ SCGP ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นไป)

นั่นหมายความว่า งบไตรมาสสามของ SCGP จะโป่งพองทั้งรายได้และกำไรเพิ่มกว่าสองไตรมาสแรกอีก

ราคาที่ขยับขึ้นมาที่ระดับเหนือ 65.00 บาท เกิดจากความเชื่อมั่นดังกล่าว แม้จะดู “เกินจริง” ไปพอสมควร แต่เหตุผลของนักวิเคราะห์ที่กระซิบกันว่า ราคาหุ้นค่าย SCC วิ่งเร็วเสมอ…ก็เข้าเค้า

มุมมองที่ว่า ดีลดังกล่าวมีศักยภาพสูงในการขยายตัว ช่วยเพิ่มพลังผนึกโดยตรงในธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ของบริษัทในอินโดนีเซีย และความคาดหมายว่าดีลการทำ M&P ในประเทศอินโดนีเชีย และ Deltalab, S.L (Deltalab) ประเทศสเปน ซึ่งจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาสสามเพื่อทิ้งทวนช่วงไตรมาสสุดท้าย ก็เป็นผลพวงตามมา

ทั้งหมดนี้ คือการกำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งทั้งสิ้น

ขออย่างเดียวว่า ทุกสิ่งยังคงเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ปีนี้ เติบโตแตะ 100,000 ล้านบาท

หากไม่เป็นตามนี้ ก็ตัวใครตัวมันละกัน

Back to top button