ตรวจแนวรบ ‘อุโมงค์ยักษ์’

“น้ำมา แล้วก็ไป ไม่ต้องสวดมนต์ มันก็จะไปของมันเองอยู่แล้ว”


น้ำมา แล้วก็ไป ไม่ต้องสวดมนต์ มันก็จะไปของมันเองอยู่แล้ว”

ครับ พายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนผ่านไทยไปแล้ว ถ้าไม่มีพายุลูกใหม่เข้ามา พื้นที่ต่างจังหวัดที่เห็นถูกน้ำท่วมเจิ่งนอง ก็จะเหือดแห้งหายไปเป็นคนละภาพกับที่เห็นแน่นอน

น้ำอีสานที่เจิ่งนองก็จะไหลผ่านชี-มูลไปลงน้ำโขงที่อุบลฯ ตามลำดับ และน้ำเหนือก็จะไหลสู่พื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างตั้งแต่นครสวรรค์ลงมา แต่หากจัดการไม่ดีก็จะเหมือนปี 2554 ที่น้ำเอ่อตอนบน ไม่ยอมไหลผ่าน กทม.ไปออกปากอ่าว

ตรงนี้ ต้องระวัง!

กทม.น่ะ มีเครื่องมือวิเศษอันไม่มีจังหวัดใดมีเหมือนนั่นก็คือ อุโมงค์ยักษ์ เส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 3.5-5.0 เมตร มูลค่าอุโมงค์แต่ละแห่งเป็น 4-5 พันล้านบาท กระจายอยู่ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำลงเจ้าพระยา ไปออกปากอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว

ก่อสร้างเสร็จใช้งานได้แล้ว  4 อุโมงค์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง คือ อุโมงค์บึงหนองบอน และอยู่ในแผนอีก 3 อุโมงค์

ส่วนที่ก่อสร้างเสร็จ ได้แก่ 1) อุโมงค์บึงมักกะสัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.6 เมตร ยาว 5.98 กม. ครอบคลุม 26 ตร.กม.ใน 6 เขต ได้แก่ วัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง

2) อุโมงค์พระราม 9 เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 ม. ยาว 5.11 กม. สูบน้ำจากคลองแสนแสบ-ลาดพร้าว ไปออกเจ้าพระยาบริเวณประตูน้ำพระโขนง ครอบคลุมพื้นที่ 50 กม.ใน 6 เขต ได้แก่ ห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว

3) อุโมงค์คลองบางซื่อ ที่เป็นพระเอกปีน้ำท่วม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 ม. ยาว 6.4 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตร.กม.ใน 8 เขต ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต

4) อุโมงค์คลองเปรมฯ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.4 ม. ยาว 1.88 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3.5 ตร.กม.ใน 4 เขต ได้แก่ บางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง

ความเป็นความตายของกรุงเทพฯ ที่จะไม่จมน้ำเหมือนปี 2554 ก็อยู่ที่ 4 อุโมงค์ยักษ์นี่แหละ แต่ฝันร้ายของปีนั้น ซึ่งมีเพียงแค่ 2 อุโมงค์ยักษ์เบ้อเร่อเบ้อร่าคือ อุโมงค์พระราม 9 กับบึงมักกะสัน ดันเป็น “อุโมงค์หลับ” เสียนี่

เหตุแห่งการเป็นอุโมงค์หลับก็คือ น้ำเข้าอุโมงค์น้อยมาก เหตุน้ำไปไม่ถึง ก็เพราะมีขยะมากมายกีดขวางลำคลอง และท่อระบายน้ำ ขนาดที่นอน หมอน ฟูก ตู้กับข้าว ตู้เย็น ฯลฯ ก็ยังมีเลย

กับอีกเหตุหนึ่ง คือการบริหารประตูน้ำแบบ “สุดขั้ว” ของ กทม.ที่ไม่ยอมให้น้ำเหนือไหลผ่านเข้าเขตชั้นใน กทม.แม้แต่น้อยเลย

จึงเกิดปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติ ที่น้ำท่วมเอ่อตอนบนหลายจังหวัดรวมทั้งปริมณฑลตอนเหนือ กทม. เพราะน้ำในคลองหลักฯ อาทิ คลองเปรมฯ คลองแสนแสบ คลองประเวศน์ ระบายลงเจ้าพระยาไปออกทะเลไม่ได้

ไม่แน่ชัดจะเป็นเหตุขัดแย้งการเมือง ที่รัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น เป็นพรรคการเมืองคู่แข่งกันหรือเปล่านะ หวังว่าคงไม่เอาความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็น “เหยื่อ”

ขณะนี้ พายุ “เตี้ยนหมู่” ไปแล้ว  ไม่ปรากฏว่าจะมีพายุลูกใหม่ก่อตัวขึ้นมาอีก วิกฤตน้ำท่วมในจังหวัดภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ โคราช และวิกฤตน้ำท่วมในภาคเหนือ เช่น สุโขทัย และนครสวรรค์บางอำเภอ ก็คงจะทุเลาเบาบางเป็นลำดับไปแล้ว

ก็เหลือการเฝ้าระวังพื้นที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาลงมา ที่มี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ที่จะมีน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงมาเติม และกรุงเทพฯ อันเป็นแผ่นดินสุดท้ายที่จะรองรับน้ำนี่แหละ

ถ้าเป็นผู้นำที่ทำการบ้านสักหน่อย นายกรัฐมนตรีคงไม่ต้องเสียเวลาจัดโปรแกรมถี่ยิบไปตรวจพื้นที่น้ำท่วมเช่นนี้หรอก เพราะน้ำที่เคยท่วมในภาคอีสานและภาคเหนือตอนบน เริ่มจะลดระดับลงแล้ว

แม้แต่วันที่นายกฯ ไปตรวจเยี่ยมน้ำท่วมในตัวเมืองชัยภูมิ ก็เป็นวันที่น้ำลดระดับลงมาจากวันก่อนมากแล้ว

ยิ่งถ้าไปดูดัชนีชี้วัดสำคัญจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและบางไทร ก็จะพบว่าปริมาณน้ำไหลผ่านยังต่ำกว่าปริมาณน้ำในปี 2554 ที่มีพายุเข้าถึง 5 ลูก เป็นอันมาก

เขื่อนหลัก 2 เขื่อน ที่มีอิทธิพลต่อแม่น้ำเจ้าพระยาคือ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ก็ยังมีปริมาณน้ำกักเก็บระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 คงมีแต่ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯ เท่านั้น ที่มีปริมาณกักเก็บปริ่ม 100% แล้ว

ภาพรวมของเจ้าพระยา อาจจะมีน้ำท่วมนองสองฝั่งแม่น้ำอยู่บ้าง แต่คงไม่อยู่นานหรอก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรประมาทเลยก็คือกรุงเทพฯ ซึ่งจะว่าจัดการง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก

ที่ว่าง่ายก็คือ มีอุโมงค์ยักษ์เป็นตัวช่วย และขออย่าได้บริหารน้ำแบบผิดธรรมชาติวิสัย

ส่วนที่ว่ายากก็คือ กลัวไม่มีน้ำมาลงอุโมงค์ยักษ์ เพราะไม่เห็น กทม.จะขุดลอกขยะคูคลอง และท่อระบายน้ำรอเอาไว้เลย และอย่าเอาแต่ปิดประตูน้ำ จนน้ำไม่มีทางระบายออกสู่แหล่งน้ำใหญ่เจ้าพระยา

นายกฯ ควรไล่การบ้านอุโมงค์ยักษ์จากผู้ว่าฯ กทม.จะดีกว่านะ จะได้ไม่ต้องเดินทางไปดราม่าน้ำท่วมให้เสียรังวัดอีกต่างหากด้วย

Back to top button