ปราชญ์เดินดิน

ลูกผู้ชายสายเลือดผสม 2 แผ่นดิน ระหว่างเชื้อสายฝ่ายปู่เป็นตระกูลเจ้านายลาวเวียงจันทน์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมวายชนม์ลงแล้วอย่างสงบในวันอายุขัย 78 ปี


ลูกผู้ชายสายเลือดผสม 2 แผ่นดิน ระหว่างเชื้อสายฝ่ายปู่เป็นตระกูลเจ้านายลาวเวียงจันทน์ ผู้ปกครองเมืองธาตุพนมในอดีต และเชื้อสายฝ่ายย่าเป็นตระกูลเจ้านายภูไทเมืองวัง ผู้ปกครองเมืองเรณูนคร ได้ถึงแก่อนิจกรรมวายชนม์ลงแล้วอย่างสงบในวันอายุขัย 78 ปี

เขาคือดร.วีรพงษ์ รามางกูร/ดร.โกร่ง หรืออาจารย์โกร่งที่เรียกขานติดปากกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง ได้ฝากผลงานและคุณูปการลือเลื่อง ทิ้งไว้แด่แผ่นดินเกิด อันเป็นความตายที่ยิ่งใหญ่และหนักแน่นประดุจขุนเขายิ่งนัก

อาจารย์โกร่งยังประโยชน์แก่แผ่นดินได้ในทุกสถานภาพ ไม่ว่าจะมีตำแหน่งทางราชการงานเมือง หรือในสถานภาพ “คนเดินตรอก” ราษฎรเต็มขั้น

เป็นที่ปรึกษา 7 รัฐบาล รัฐมนตรี 3 รัฐบาล และก็เป็นดร.โกร่ง ราษฎรเต็มขั้นในฐานะนักคิด นักเขียนที่แหลมคมทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ ปรัชญา และการเมือง ด้วยจุดยืนมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีคลอนแคลนเลยแม้แต่น้อย

ภารกิจและอุดมการณ์อาจารย์โกร่งจึงเป็นแบบ “ฟูลไทม์” ไม่มีวันหยุดพัก ยามเป็นคนเดินตรอกก็เป็น “ฝ่ายค้านตัวจริง” ของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ

แม้กระทั่งช่วงนายกฯ ทักษิณยามเฟื่องฟูอำนาจและมีแนวโน้มจะไม่ฟังใคร ก็ยังมีคำเตือนจากปากครูบาอาจารย์ท่านนี้เลย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็โดนในโครงการจำนำข้าว ที่อาจารย์โกร่งเตือนแรงว่า จะนำความฉิบหายมาสู่

วิสัยคนมีอำนาจ ชอบจะฟังแต่คำพูดรื่นหู คำพูดเห็นต่าง จะไม่เป็นที่สบอารมณ์นัก

ด้วยเหตุนี้อาจารย์โกร่งถึงพร่ำสอนลูกศิษย์และยืนยันหลักการอยู่เสมอว่า “ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด” มีประชาธิปไตยย่อมดีกว่าเผด็จการแน่นอน

ประเทศชาติจนตรอก อาจารย์โกร่งมีบทบาทเอาประเทศออกจากวิกฤตอย่างน้อย 2 ครั้ง ถ้าครั้งนั้นผ่านวิกฤตมาไม่ได้ ก็ไม่รู้บ้านเมืองจะไปต่ออย่างไร

ครั้งแรกเลยก็คือ วิกฤตค่าเงินบาทปี 2527 ที่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนผูกติดคงที่กับดอลลาร์สหรัฐ ที่ 23 บาท/ดอลลาร์ อาจารย์โกร่งในฐานะที่ปรึกษาพล.อ.เปรมตอนนั้น ต้องออกแรงล็อบบี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งคลัง แบงก์ชาติ และพรรคร่วมรัฐบาลให้ลดค่าเงินบาท จาก 23 บาทมาเป็น 27 บาท/ดอลลาร์

การลดค่าเงิน ย่อมมีทั้งฝ่ายได้และฝ่ายเสียประโยชน์ แต่หากไม่ลดคราวนั้น ประเทศชาติจะเสียผลประโยชน์มากกว่า นับเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

การลดค่าเงินบาท ทำให้การส่งออกดีขึ้นอย่างเห็นผลทันตา เศรษฐกิจโดยรวมก็ดีขึ้น เพราะโรงงานได้เดินเครื่องจักรทำงาน ประชาชนก็มีงานทำ กำลังซื้อในสังคมก็สูงขึ้นตามมาด้วย และสุดท้ายก็วนลูปมายังรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล

จากบ้านเมืองที่ขาดดุลไปเสียทุกดุลในตอนนั้น ทั้งขาดดุลงบประมาณ ขาดดุลการค้า และขาดดุลการชำระเงิน ก็ค่อย ๆ ขาดดุลน้อยลง ประเทศมีทุนสำรองเงินตราสูงขึ้น

อาจจะเรียกได้ว่าการลดค่าเงินบาทคราวนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในยุคสมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณช่วง 2530-2533

วิกฤตครั้งที่ 2 คือวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งกินเวลายาวนาน กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับคืนมาได้ก็ทอดยาวไปจนถึงปี 2545-2546

อาจารย์โกร่งในฐานะคนเดินตรอกสามัญชน ได้ทำหน้าที่ชี้แนะและตักเตือนตั้งแต่ก่อนฟองสบู่แตกว่า ค่าเงินบาทในขณะนั้น แข็งค่าเกินความเป็นจริง เพราะเริ่มเห็นสัญญาณการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรง และภาคเอกชนก็ก่อหนี้สินเกินตัวทั้งในประเทศและนอกประเทศจากการเปิดบีไอบีเอฟ

แต่รัฐบาลในยุคบรรหาร-ชวลิตไม่รับฟัง ยิ่งเอาเงินทุนสำรองฯ ไปสู้การโจมตีค่าเงินบาทจนหมดหน้าตัก ฟองสบู่ก็แตกดังโพละ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยอยู่ไม่ได้

ค่าเงินบาทร่วงละลิ่ว จาก 27 บาท/ดอลลาร์เป็น 55-56 บาท คนมีหนี้สินต่างประเทศเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 100% สถาบันการเงินล้มระเนระนาด ธุรกิจเจ๊ง บ้านเมืองมืดมนอนธการ

ช่วงนี้อาจารย์โกร่งชี้ทางออกและเสนอแนะการฟื้นฟูประเทศอย่างทรงพลัง ผู้คุมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพื้นฐานจากนายแบงก์มองว่า จะต้องรดน้ำจากข้างบนส่งไปเลี้ยงรากข้างล่าง โดยใช้กลไกธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคส่วนเศรษฐกิจต่าง ๆ

จึงจัดลำดับมุ่งรักษาความมั่นคงแข็งแรงของธนาคารพาณิชย์ก่อน

อาจารย์โกร่งเห็นตรงข้ามว่า จะต้องรดน้ำที่โคนราก และน้ำจะซึมซับขึ้นไปเลี้ยงใบดอกผลส่วนบน จึงต้องฟื้นฟูภาคธุรกิจจริงหรือ “เรียล เซกเตอร์” เป็นอันดับแรกให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน และลูกหนี้ก็มีเงินไปชำระหนี้แบงก์

มาตรการใดอันเป็นการซ้ำเติมลูกหนี้ อาทิ ห้ามลูกหนี้ซื้อหนี้ของตัวเองคืน หรือการประมูลขายทรัพย์สินไปในราคาถูกฯลฯ อาจารย์โกร่งไม่เห็นด้วยทั้งหมด

ความเห็นอาจารย์โกร่งถูกต้อง และดร.ทักษิณที่เป็นรัฐบาลต่อมา ก็รับไปปฏิบัติเกือบทั้งหมด จึงสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและใช้หนี้ไอเอ็มเอฟได้ก่อนกำหนด

อำลาอาลัยยิ่งนักต่อปราชญ์เดินดินนามวีรพงษ์ รามางกูรผู้นี้

Back to top button