พาราสาวะถี

ต้องช่วยกันถอดวลีผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่บอกว่า “หนูช่วยกันหน่อยนะ” ในวงหารือกับ 4 รัฐมนตรี สองรายจากพรรคภูมิใจไทยคือ อนุทิน ชาญวีรกูล และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ


ต้องช่วยกันถอดวลีผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่บอกว่า “หนูช่วยกันหน่อยนะ” ในวงหารือกับ 4 รัฐมนตรี สองรายจากพรรคภูมิใจไทยคือ อนุทิน ชาญวีรกูล และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ อีกสองคือสายตรงของตัวเองจากพรรคแกนนำรัฐบาล สุชาติ ชมกลิ่น และ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นการพูดถึงประเด็นปัญหาวาระขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ในที่ประชุมครม. หรือปมสภาล่มซ้ำซาก

น่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า เนื่องจากปมขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสี่ยหนูและพรรคภูมิใจไทยประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนไม่ยอมถอยในเรื่องนี้โดยเด็ดขาด ขณะเดียวกันอนุทินถึงขนาดประกาศว่ารู้ดีอยู่แล้ว ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกับพรรคภูมิใจไทยนั้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะเลือกข้างไหน ตามมาด้วยวลีทอง “เพราะเขาเป็นพี่น้องกัน” ส่วนทาง วิษณุ เครืองาม ก็แบะท่าน่าจะหนีไม่พ้นให้รัฐมนตรีลงมติใช้เสียงข้างมากลากไป

สาระสำคัญเมื่อมีการเดินหน้าเรื่องนี้ก็อยู่ที่ว่าหากมีคนไปยื่นเรื่องร้องแล้วมีความผิด 7 รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่ ในมุมเนติกรคนโปรดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็คือไม่ต้องร่วมรับผิดชอบในความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่ความรับผิดทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 164 ซึ่งบัญญัติว่าครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการกำหนดนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นสิ่งที่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการ แต่ที่ผ่านมาก็จะเป็นเรื่องความผิดรายบุคคลไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าภูมิใจไทยจะแสดงท่าทีคัดค้านอย่างไร ยิ่งได้เห็นท่วงทำนองของอนุทินกับพวกที่พากันยืนยันเรื่องเสถียรภาพที่มั่นคงของรัฐบาลแล้ว ก็คงไม่ส่งผลต่อการคงอยู่ของรัฐบาลเรือเหล็ก หากแต่น่าสนใจที่ว่าเหตุใดกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครหรือกทม. จึงเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ชนิดหัวชนฝา เรียกได้ว่าดันกันมาหลายรอบชนิดไม่รู้จักเหนื่อยจักท้อ ทั้งที่ข้อสงสัยจากอีกฝ่ายก็เป็นเรื่องเดิม ๆ แต่ทำไมหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้

ด้วยท่าทีเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้คนส่วนใหญ่อดสงสัยไม่ได้ว่า เบื้องหลังในการผลักดันเรื่องนี้คงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนั้นต้องรอดูช็อตต่อไปหลังจากที่ประชุมครม.ดันทุรังให้ผ่านไปแล้ว อนุทินและพลพรรคภูมิใจไทยจะขับเคลื่อนกันอย่างไรต่อไป ทว่าการรับปากที่จะช่วยดูแลปัญหาสภาล่มกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั่นก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณอย่างหนึ่งว่า ต้องช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเวลานี้ก็เท่ากับกอดคอกันตายหมู่

รู้กันอยู่ว่ากระแสความนิยมของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นไม่เหลือแล้ว ไม่ต่างจากพรรคของเสี่ยหนูที่มีแต่สาละวันเตี้ยลงเช่นเดียวกัน น่าสนใจอยู่เหมือนกันปัญหาสภาล่มที่มุ่งโจมตีพรรคฝ่ายค้าน ล่าสุด ส.ว.ลากตั้ง สมชาย แสวงการ ขู่จะพลิกตำรากฎหมายมาเล่นงานฝ่ายค้านที่อยู่ในที่ประชุมแล้วไม่ร่วมแสดงตัวเป็นองค์ประชุม อ้างว่าจะทำให้มีคนหลุดจากตำแหน่งเป็นร้อย อยากเห็นเหมือนกันถ้าไม่ใช่ราคาคุยจะทำกันแบบไหน หากเป็นเช่นนั้นจริงบอกได้คำเดียวว่าบ้านเมืองลุกเป็นไฟแน่

ความจริงแล้วหากเป็นคนที่รู้จักมารยาทก็จะเข้าใจว่าสองสภานั้นเขาจะไม่ก้าวก่ายกัน ปัญหาเรื่องนับองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรมีมาทุกยุคทุกสมัย ย้ำกันอีกครั้งว่า เรื่องการดูแลองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง เพราะถือเป็นการแสดงออกถึงการรักษาความมีเสียงข้างมากในสภาได้ ซึ่งต้องบอกเสียด้วยซ้ำว่า “เป็นความรับผิดชอบขั้นสูงสุดของรัฐบาล” ขณะฝ่ายค้านที่อยู่ในที่ประชุมแต่ไม่แสดงตนก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการกล่าวหาไปยังกลุ่มของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่ามีส่วนที่ทำให้สภาล่ม ทั้งที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็บอกอยู่ปาว ๆ ว่าเป็นฝ่ายรัฐบาล ผลจากการประชุมสภาวันพฤหับสดีที่ผ่านมา ส.ส.ในกลุ่มธรรมนัสหรือพรรคเศรษฐกิจไทยได้ถ่ายภาพประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ว่านั่งแสดงตัวอยู่ในสภาครบถ้วน แต่สภาก็ยังล่ม เมื่อไปตรวจสอบตัวเลขก็พบว่าส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไม่แสดงตัวถึง 55 คน และเป็นคนของพรรคสืบทอดอำนาจมากสุดถึง 21 คน นี่ต่างหากที่ต้องไปไล่เบี้ยกันเองว่าเกิดอะไรขึ้น

สำหรับธรรมนัสและพวกที่ถูกขับออกมาจากพรรคสืบทอดอำนาจนั้น วันนี้ (14 กุมภาพันธ์) ต้องมาลุ้นผลการพิจารณาของกกต.ที่จะวินิจฉัยในประเด็นซึ่งสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจที่ไม่ใช่ส.ส.จำนวน 100 ราย ไปยื่นให้ตรวจสอบว่าการประชุมเพื่อขับ 21 ส.ส.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากผลออกมาว่าไม่ชอบก็จะทำให้การไปสังกัดพรรคใหม่ของกลุ่มธรรมนัสกลายเป็นการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อน เมื่อเป็นเช่นนั้นจะต้องขาดจากการเป็นส.ส.

แต่ก็มีประเด็นอยู่ว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ส.ส.ที่ถูกขับจากพรรคต้องไปหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถูกขับ บทบัญญัตินี้ส.ส.ที่ถูกขับทั้ง 21 คนมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ ต้องไปสมัครเข้าพรรคใหม่ภายใน 30 วัน เมื่อได้สมัครเข้าพรรคใหม่แล้วเป็นอันได้มาซึ่งการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง และความเป็นส.ส.ก็ดำรงอยู่ต่อไป การที่กกต.วินิจฉัยว่าการขับ 21 ส.ส.ไม่ชอบ จึงน่าจะต้องเป็นความรับผิดชอบของพรรคที่กระทำการไม่ชอบตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยไม่ไปลบล้างการกระทำที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ

หากยึดกันตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อย่างลืมว่าคนในองค์กรที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งจากปลายปากกาของเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น ได้มีกระบวนการตีความที่นำไปสู่ข้อวิจารณ์ของสังคมอย่างหนักหน่วงมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ทว่ากรณีนี้ถ้าจะมีการใช้เล่ห์กลในการตีความจนไปทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของข้อกฎหมายผิดเพี้ยน คงต้องเตือนกันไว้ก่อนว่าปลายทางอาจจะมีคนนำเรื่องนี้ไปร้องเรียนในประเด็นที่ว่าการวินิจฉัยไม่เป็นไปตามกฎหมาย สุดท้าย คนวินิจฉัยอาจต้องเข้าไปในนอนในซังเตเหมือนกกต.รุ่นพี่ที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว

X
Back to top button