พาราสาวะถี

เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยยังสนับสนุนท่านผู้นำและรัฐบาล มีเพียงเสียงของ ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้นที่คุมไม่ได้


หลังจากปรากฏข่าววงอาหารมื้อค่ำของพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจถามถึงสถานการณ์ทางการเมือง พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.รายงานว่า ทุกอย่างไม่มีปัญหา เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทยยังสนับสนุนท่านผู้นำและรัฐบาล มีเพียงเสียงของ ธรรมนัส พรหมเผ่า เท่านั้นที่คุมไม่ได้ ล่าสุด ส.ส.คนใกล้ชิดของผู้กองมันคือแป้ง ไผ่ ลิกค์ ให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ยกหูหาหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว ยืนยันไม่ได้พูดอย่างที่เป็นข่าว

จริงเท็จประการใดไม่มีใครรู้ได้ แต่ประสาผู้ติดสอยห้อยตามประเภทคอหอยลูกกระเดือก สิ่งที่ไผ่พูดออกมานั้นน่าจะเป็นความจริง หรือหากจะมีการพูดในวงอาหารแต่หลังฉากก็เชื่อได้ว่า พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ย่อมรู้กันดีกับธรรมนัสในฐานะสมุนผู้รู้ใจ ว่าสถานการณ์มันพาไปในภาวะเช่นนั้นคนที่รู้นิสัยของน้องเล็กตัวเองเป็นอย่างดี ย่อมเอาใจทำให้น้องเกิดความสบายใจ ในเมื่อก็รู้กันอยู่แล้วการถูกขับออกจากพรรคสืบทอดอำนาจของธรรมนัสและพวกนั้นเป็นไปด้วยความเต็มใจ

อย่างไรก็ตาม วันนี้ธรรมนัสก็ได้นัดหมายกับบรรดาพรรคเล็กที่สนับสนุนรัฐบาลมารับประทานอาหารร่วมกัน โดยยืนยันว่าไม่ได้มีการบลัฟกลับพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. และผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้เชิญพรรคเหล่านี้ไปร่วมวงด้วย หากแต่มีการนัดหมายกันไว้ตั้งแต่ปิดสมัยประชุมแล้ว บังเอิญว่ามีเวลาว่างกันช่วงนี้พอดี นี่แหละการเมืองของนักเลือกตั้ง โดยเฉพาะกับรัฐบาลผสมที่ต้องอาศัยเสียงจากพรรคการเมืองจำนวนมาก ย่อมเกิดแรงกระเพื่อมอยู่เป็นประจำ

น่าสนใจว่าวงหารือของพรรคเล็กพรรคน้อยนี้มีเรื่องของกล้วยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ แต่คงไม่ทำอะไรกันประเจิดประเจ้อขนาดนั้น ในเมื่อคนที่นัดหมายเป็นประเภทใจถึงพึ่งได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไรกันมาก ขณะเดียวกัน จังหวะเวลานี้ยังไม่ใช่ช่วงที่จะต้องเรียกร้อง ต่อรองใด ๆ รอให้เปิดสมัยประชุมในเดือนพฤษภาคมนี้เสียก่อน ยิ่งมีประเด็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จะเข้าสู่การพิจารณาด้วยแล้ว ส.ส.ทุกคนจะได้รับการดูแลประคบประหงมกันเป็นอย่างดี

ไม่เพียงเท่านั้น หลังจากร่างกฎหมายงบประมาณผ่านการพิจารณาของสภาไปแล้ว ฝ่ายค้านก็จะเดินเรื่องยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อทันที เหตุการณ์ที่ทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแตกหักกับธรรมนัสเป็นบทเรียนมาแล้ว สิ่งที่ท่านผู้นำประกาศกลางวงอาหารค่ำว่าพร้อมที่จะให้ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ถ้าไม่บริหารจัดการเสียงให้เป็นเอกภาพก็จะเกิดการย่ำซ้ำรอยการซักฟอกครั้งที่ผ่านมา ไม่แน่ว่าอาจจะมีธรรมนัสสองเกิดขึ้นก็เป็นไปได้

ส่วนทางด้านของพรรคเศรษฐกิจไทยที่พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ยืนยันกับน้องเล็กว่าสนับสนุนรัฐบาลและผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแน่นอนนั้น ฟังไผ่พูดแล้วไม่ใช่หนุนกันแบบไม่ต้องดูแลอะไรเหมือนที่ผ่านมา หากจะให้ลื่นไหลทุกอย่างต้องถูกคำนวณเป็นต้นทุน จริงอย่างที่ไผ่ว่า การซักฟอกไม่ต้องไปกลัวฝ่ายค้านจะพูดอะไร หากไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ฝ่ายค้านพูด สำหรับพรรคเศรษฐกิจไทยยังย้ำจุดยืนเดิมคือยึดประโยชน์และความต้องการของประชาชนเป็นหลัก แค่นี้ก็ต้องคิดหนักกันแล้วสำหรับคนที่อยากจะได้เสียงหนุน

สมัยประชุมหน้ายังมีวาระพิจารณาเรื่องกฎหมายลูกเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามรูปแบบบัตร 2 ใบที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ประเด็นที่ถูกจับตามองคือ ความต้องการของบรรดาพรรคเล็กทั้งหลาย ที่ไม่อยากให้ตัวเองต้องสูญพันธุ์ จึงมีการเสนอว่าด้วยสูตรการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะให้นับทุกคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง ทั้งแบบส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วนำมาหารด้วย 500 ตามจำนวน ส.ส.ทั้งสภา แล้วนำคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาหารด้วยจำนวนดังกล่าว

ทำให้ทางพรรคเพื่อไทยแย้งว่าวิธีการดังกล่าวน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนฟากประชาธิปัตย์ก็โต้ว่าไม่ขัดพร้อมแสดงความเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม “เสธ.อู้” เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน มองว่า วิธีที่เสนอนั้นเป็นไปตามคณะกรรมาธิการยกร่างชุดที่ตนร่วมด้วยเสนอ ให้คำนวณหาส.ส.จากคะแนนทั้งหมดที่มีและหารด้วยจำนวนส.ส.ที่มี 500 คน

จากนั้นให้นำคะแนนเฉลี่ยที่ไปคำนวณหาส.ส.ที่พรรคจะได้ โดยหักจากส.ส.เขตเลือกตั้ง ต่อมาในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้นำวิธีคิดดังกล่าวไปใช้ แต่ปรับให้เป็นบัตรใบเดียว ดังนั้น จากที่จะนำคะแนนทั้งหมดไปคำนวณหาส.ส.ให้ใช้แค่คะแนนเลือกตั้งเขต เพราะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คำว่าพึงมีหมายถึงเป็นแต่ละกรณี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) พ.ศ. 2564 นั้นหมายถึง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ดังนั้นการหาคะแนนเฉลี่ยต้องใช้จำนวน 100 หาร และไม่สามารถย้อนไปใช้สูตรแบบปันส่วนผสม หรือ MMP ได้อีก เพราะรัฐสภาได้เห็นชอบให้ใช้ระบบคำนวณแบบคู่ขนานแล้ว อีกทั้งร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับเขียนเนื้อหาไว้เหมือนกันคือ ให้คำนวณโดยใช้ 100 หาร ส่วนที่มีคนเสนอให้ใช้ 500 หารนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง หากจะย้อนกลับไปแบบนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง พอจุดประเด็นเช่นนี้ไม่แน่ว่า นั่นอาจจะเป็นสิ่งที่พวกและพรรคซึ่งเสียประโยชน์ต้องการ

น่าสนใจต่อความเห็นของเสธ.อู้ที่เป็นอดีตนายทหารซึ่งมีสายสัมพันธ์ทางการเมืองอันดีกับทุกฝ่าย ในประเด็นทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ความหมายคือ ไม่ตัดเศษ หรือใช้เปอร์เซ็นต์คะแนนขั้นต่ำ เช่น 1% กำหนดเกณฑ์ที่พรรคจะได้ส.ส. ดังนั้นทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกส.ส.จะนำมาคิดคำนวณทั้งหมด ส่วนที่มีบางพรรคนำคำว่าเสียงไม่ตกน้ำไปใช้ เพราะต้องการให้ตนเองได้ประโยชน์ ได้คะแนนเลือกตั้งแค่ 3 หมื่นคะแนนแต่อยากได้ส.ส. กรณีดังกล่าวเป็นการทำลายการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

ความเห็นเช่นนี้อยากจะให้เสธ.อู้ในฐานะส.ว.ได้สะท้อนไปยังกกต.ที่เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย แทนที่จะสร้างบรรทัดฐานอันเป็นที่ยอมรับ กลับทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปมเรื่องการยุบพรรคของพรรคเล็กไปรวมกับพรรคใหญ่ แล้วคนที่เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก็ยังคงสถานะความเป็นส.ส.ด้วย ทั้งที่ความจริงพรรคที่ยุบไปรวมได้รับจำนวนส.ส.ตามเกณฑ์ที่ตัวเองพึงมีไปแล้ว นี่ไงที่ทำให้ขบวนการสืบทอดอำนาจถึงย่ามใจเพราะทำอะไรก็ไม่มีวันผิดแน่นอน

Back to top button