‘เงินเฟ้อ’ พุ่งกดดัน หุ้นไทยไตรมาส 3 ผันผวนหนัก

สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ของไทยยังพุ่งไม่หยุด ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน


เส้นทางนักลงทุน

สถานการณ์ “เงินเฟ้อ ของไทยยังพุ่งไม่หยุด ล่าสุดตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบปีนี้ และสูงสุดในรอบ 13-14 ปี จากปัจจัยหลัก ๆ คือราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม แพงขึ้น

ส่วนเงินเฟ้อรวม 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2565) เพิ่มขึ้น 5.61% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเมื่อหักอาหารสดและพลังงานที่มีความผันผวนด้านราคาออก ดัชนีอยู่ที่ 102.99 เพิ่มขึ้น 0.24% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 และเพิ่มขึ้น 2.51% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 และเฉลี่ย 6 เดือนเพิ่มขึ้น 1.85%

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มพลังงานเป็นสินค้ามีการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างมีนัยสำคัญ มีอัตราการเติบโต 39.97% จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ราคาเพิ่มขึ้น 39.45% ค่าไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้น 45.41% ก๊าซหุงต้ม ราคาเพิ่มขึ้น 12.63%

ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 6.42% ทำให้กลุ่มอาหารมีสัดส่วน 34.27% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน เช่น เนื้อหมู ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร

สาเหตุที่กลุ่มอาหารมีราคาเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทุกขั้นตอน ตลอดจนเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ และราคาวัตถุดิบทั้งหมด

สำหรับสินค้าอื่น ๆ มีสัดส่วน 3.9% ของอัตราเงินเฟ้อ ประกอบด้วยกลุ่มที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด ทั้งน้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม และกลุ่มของใช้ส่วนบุคคล คือ สบู่ ยาสีฟัน ตลอดจนยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งบุหรี่ เบียร์ สุรา และค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

“เงินเฟ้อ” ระดับสูงถือเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก โดยมีแนวโน้มว่าตัวแลขเงินเฟ้อยังคงจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องหากราคาพลังงานยังไม่มีท่าทีว่าจะลดต่ำลง

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มีมุมมองว่า เงินเฟ้อของไทยยังมีโอกาสสูงขึ้นได้อีก โดยคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ เงินเฟ้อจะสูงเฉลี่ย 6-8% ซึ่งบางเดือนมีโอกาสขึ้นไปแตะ 8% บวกลบ จากนั้นจะทยอยปรับลดลงในไตรมาส 4 และทั้งไตรมาส เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 6-7%

ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนอย่างน้อย 1 ครั้ง ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมเดือนสิงหาคมนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษจิกายน-ธันวาคม เนื่องจากจะเป็นรอบที่ธปท.มีการปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ซึ่งคงมีการทบทวนจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการเปิดประเทศ โดยหากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวออกมาดีกว่าคาด หรือสูงกว่า 6 ล้านคน ก็คาดว่าธปท.อาจจะมีการปรับจีดีพีเพิ่มขึ้นจากเดิมคาดโต 3.3% และจะเป็นแรงสนับสนุนให้ธปท.ปรับดอกเบี้ยขึ้นได้

สำหรับการทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องแบกรับภาระต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นจนทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นนั้น ศูนย์วิจัย ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยซึ่งมีปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับสูงเป็นหลักแล้ว สินค้าต่าง ๆ ที่ทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว ก็มีการทยอยปรับขึ้นราคากันด้วย ดังนั้นคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อจะยังสูงขึ้นต่อเนื่อง และจะไปสู่ระดับสูงสุด (พีก) ในเดือนสิงหาคม อาจจะแตะระดับใกล้เคียง 9% ได้

แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะยังไม่จำเป็นต้องมีการเรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว ๆ นี้ น่าจะคงแผนการประชุมตามเดิม และปรับขึ้นในเดือนสิงหาคม ที่อัตรา 0.25% ทั้งปีนี้น่าจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ตามคาดการณ์เดิม โดยครั้งที่สองจะเป็นในเดือนพฤศจิกายนอีก 0.25%

ด้านสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดของปี มีโอกาสแตะระดับ 10% ได้ จากราคาน้ำมันที่ยังสูง ราคาอาหารสด และที่สำคัญ น่าจะเริ่มเห็นเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ หลังกำลังซื้อฟื้นตัวจากไตรมาส 2 รับการเปิดเมืองและจากฐานที่ต่ำในปีก่อน

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปี 2565 นี้ยังคงต้องรับมือกับความท้าทายหลัก ๆ ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสพุ่งทะลุ 10% ทำให้กดดันการบริโภค ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว และหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงต่อเนื่องในภาวะเช่นนี้ สหรัฐฯ ก็มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น

รวมถึงยังต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งในยุโรป หากรุนแรงขึ้น จะหนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงไปอีก และจีนจะมีการล็อกดาวน์อีกหรือไม่ เมื่อโควิดเริ่มกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอหนัก กระทบการส่งออกของไทย ตลอดจนปัญหาการเมืองไทยที่ขาดเสถียรภาพ จนมีผลให้นักลงทุนชะลอลงทุนโครงการใหม่ ๆ

ตัวเลข “เงินเฟ้อ” ซึ่งทำสถิติสูงสุดรอบ 13-14 ปี เมื่อบวกกับปัจจัยลบการกลับมาระบาดของโควิดระลอกใหม่ ยังกดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ตกลงแรงและอยู่ในภาวะซึมตัวขาลง

สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ประเมินว่า ครึ่งหลังของปี 2565 นี้ จุดต่ำสุดของดัชนีตลาดหุ้นไทยอาจทรุดลงไปถึง 1,486 จุดได้ ขณะที่มีจุดสูงสุดอยู่ที่ 1,662 จุด โดยคาดเป้าหมายดัชนีเฉลี่ยสิ้นปีที่ 1,646 จุด ซึ่งเป็นการปรับลดลง 101 จุด จากระดับคาดการณ์ในครั้งก่อน 1,747 จุด แต่ระยะสั้นในช่วงไตรมาส 3 นี้ แนวโน้มดัชนีจะอยู่ใน “ทางลบ” อย่างดีก็คือ “ไซด์เวย์” (Sideway)

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หั่นเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้เหลือ 1,680 จุด จากเดิม 1,800 จุด เนื่องจากยังมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อสูง และกังวลว่าอาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก แม้จะยังคงคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยที่ 3.5% เท่าเดิมก็ตาม

สำหรับนักลงทุนแล้ว ในภาวะการณ์เช่นนี้ ควรเกาะติดข้อมูลข่าวสาร ใช้กลยุทธ์กระจายพอร์ตลงทุนลดความเสี่ยง ถือเงินสดเป็นส่วนใหญ่เพื่อรอจังหวะเก็บของถูกนั่นเอง

Back to top button