โบรกฯ เชียร์ TOP หุ้นดี-พีอีต่ำ!

TOP โดยภาพรวมน่าจะเรียกได้ว่าเป็นขาขึ้น โดยเฉพาะราคาหุ้นช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา วิ่งขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มว่าจะยังคงยืนเขียวบวกต่อไปอีก


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP โดยภาพรวมน่าจะเรียกได้ว่าเป็นขาขึ้น เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในเดือนสิงหาคมบวกขึ้นมาแล้ว 11.21% จาก 51.25 บาท มาที่ 57 บาท (27 กรกฎาคม-18 สิงหาคม 2565) โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้นวิ่งขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มว่าจะยังคงยืนเขียวบวกต่อไปอีก

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา TOP เคยสร้างสถิติสูงสุดที่ 62.25 บาท จากราคาหุ้นที่ไต่ระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอาจจะได้เห็น TOP กลับไปแตะนิวไฮเดิม รวมทั้งทำนิวไฮรอบใหม่ในปีนี้

ในสายตาของนักวิเคราะห์หุ้น TOP มีดีตรงที่มีค่า P/E ต่ำ เพียง 2.94 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมทรัพยากร/พลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งค่า P/E สูงถึง 11.57 เท่า ขณะที่ค่า P/BV อยู่ที่ 0.78 เท่า จากอุตสาหกรรม 1.46 เท่า แต่หากเปรียบเทียบผลตอบแทนจากราคาย้อนหลัง (Adjusted Price) นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (4 มกราคม-17 สิงหาคม 2565) แล้ว TOP ให้ผลตอบแทนถึง 15.15% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่ 12.58%

TOP เป็นบริษัทหนึ่งในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT โดยประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับชั้นนำแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือโรงกลั่นนํ้ามัน โดยมีการเชื่อมโยงทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน

TOP มีนโยบายจ่ายปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวม ภายหลังจากการหักทุนสำรองต่าง ๆ ทุกประเภท โดยในอดีตปี 2562 เคยจ่าย 1 บาทต่อหุ้น ปี 2563 จ่าย 0.50 บาทต่อหุ้น ปี 2564 จ่าย 2 ครั้ง รวม 1.30 บาทต่อหุ้น และเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ผ่านมาจ่าย 2 บาท (นับตามครั้งในการจ่ายไม่อิงรอบบัญชี)

มีโบรกเกอร์ถึง 14 รายให้คำแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเป้าหมายสูงสุด 85 บาท ต่ำสุด 53 บาท มีราคาเฉลี่ยที่ 67.03 บาท โดยบริษัทหลักทรัพย์ (บล) แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มองว่าธุรกิจโรงกลั่นยังมีปัจจัยหนุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว แม้ค่าการกลั่นเทียบตลาดสิงคโปร์ (Singapore GRM) จะลดลงจากระดับสูงเป็นพิเศษที่ 21.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2 ปีนี้ เหลือ 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในไตรมาส 3 เนื่องจากส่วนต่างราคา หรือสเปรด น้ำมันเบนซินลดลงมากจาก 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เหลือ 16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับอุปสงค์อ่อนตัวแต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงก่อนโควิด และคาดว่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่อุปทานจะหายไปบางส่วนตามการปิดซ่อมบำรุงในช่วงปลายปี และยุโรปจะเริ่มห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียในช่วงต้นปีหน้า รวมถึงสเปรดน้ำมันท่าอากาศยาน (Jet) และน้ำมันก๊าด (Kero) ตามการเดินทางระหว่างประเทศที่เร่งตัวขึ้น มีการปิดซ่อมบำรุงและความต้องการในฤดูหนาวที่กำลังมาถึง

ขณะที่ในระยะยาวมีปัจจัยบวกจากอุปทานใหม่เกิดขึ้นน้อยมาก เนื่องจากไม่มีการก่อสร้างโรงกลั่นขึ้นใหม่และนโยบายของจีน คือ China Dual Policy ซึ่งจำกัดการเกิดขึ้นของโรงกลั่นใหม่ในจีนเพื่อลดมลพิษ

สำหรับโครงการ CFP เพื่อเพิ่มกำลังการกลั่นอีก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ได้ล่าช้าไป 1 ปี จากเดิมไตรมาส 1 ปี 2566 เป็นภายในปี 2567 ตลอดจนมีค่าใช้จ่ายลงทุนส่วนเพิ่ม แต่ TOP มองว่าไม่มีผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนที่คาดไว้ เพราะกระแสเงินสดจ่ายล่าช้ากว่าแผน รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เป็นบวกมากขึ้น โดยเฉพาะจากสัดส่วนการกลั่นดีเซลและ Jet เพิ่มขึ้น

และด้วยค่าการกลั่นที่สูงเป็นพิเศษในครึ่งแรกของปีนี้ จะช่วยสร้าง EBITDA สูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการในช่วงวางแผนโครงการอย่างมาก จึงช่วยลดวงเงินการกู้ยืมจากสถาบันการเงินลง

ด้านธุรกิจอะโรเมติกส์ได้ฟื้นตัวในไตรมาส 3 หลังจากอ่อนแอในไตรมาส 2 โดย P2F ติดลบ 27 ดอลลาร์ต่อวัน ตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของสเปรดพาราไซรีน (PX-ULG95) และเบนซีน (BZ-ULG95) ตามราคาน้ำมันเบนซินที่อ่อนลง และอุปสงค์ฟื้นตัวหลังจากโควิดในจีนดีขึ้น ดังนั้นกำไรจากธุรกิจนี้จะช่วยชดเชยค่าการกลั่นที่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสได้

อย่างไรก็ตาม TOP ได้ยื่นไฟลิ่งเพื่อเพิ่มทุนไม่เกิน 275.12 ล้านหุ้น แบ่งเป็นการเสนอขายแบบทั่วไป (PO) ซึ่งรวมถึงผู้ถือหุ้นเดิม 239.235 ล้านหุ้น และหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Option) 35.885 ล้านหุ้นนั้น บริษัทได้ขึ้นเครื่องหมาย XB ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคมแล้ว นักลงทุนที่ซื้อหุ้นหลังจากนี้จึงไม่ได้รับสิทธิ

ราคาหุ้น TOP ปรับตัวขึ้นสะท้อนผลประกอบการไตรมาส 2 ที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้จากการขาย 143,892 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 25,327 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 12.41 บาทต่อหุ้น จากปีก่อน 2,123 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลทั้งจากกำไรจากการดำเนินงาน และกำไรพิเศษจากการขายหุ้นบางส่วนในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ส่วนงวด 6 เดือน สร้างรายได้จากการขายถึง 258,397 ล้านบาท เป็นกำไร 32,510 ล้านบาท จาก 5,483 ล้านบาท งวดปีก่อน

แต่ TOP ยังซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีมาก รวมถึงปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจโรงกลั่นยังแข็งแกร่ง คาดรายได้จากการขายทั้งปีนี้ 558,849 ล้านบาท และปีหน้า 518,733 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 43,255 ล้านบาท และ 18,711 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลก ค่าการกลั่น ส่วนต่างราคาปิโตรเคมีอะโรเมติกส์และอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนและต่ำกว่าประมาณการได้ ให้เป้าหมายราคา 70 บาท มีอัพไซด์ราว ๆ 25%

ด้วยแนวโน้มธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไร ค่า P/E ต่ำ จ่ายปันผลต่อเนื่อง ก็ทำให้ TOP กลายเป็นหุ้นที่โบรกเกอร์ส่วนใหญ่เชียร์ให้ลงทุน

Back to top button