B ขึ้นท่า..ล่าฝัน AMC

ด้วยแนวโน้มของหนี้เสียที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ หลังจากหมดโปรฯ พักหนี้-ยืดหนี้ไปแล้ว ก็เป็นที่มาของบริษัทต่างๆ ให้แสวงหาโอกาสจากเค้กก้อนนี้


ด้วยแนวโน้มของหนี้เสีย หรือ NPL ที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ หลังจากหมดโปรฯ พักหนี้-ยืดหนี้ไปแล้ว ก็เป็นที่มาของบริษัทต่าง ๆ ให้แสวงหาโอกาสจากเค้กก้อนนี้ ไม่ว่าจะเป็น AMC เจ้าเดิมที่หันไปจับกับพันธมิตร เพื่อหวังเพิ่มศักยภาพในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด รวมทั้งกลุ่มที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็กระโดดเข้าสู่สมรภูมินี้…

อย่างบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ก็มีบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ที่อยู่ระหว่างเตรียมหน้าตัก ด้วยการแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขายไอพีโอจำนวน 562 ล้านหุ้น ซึ่งชัดเจนว่าเงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปขยายธุรกิจติดตามทวงหนี้แบบครบวงจร

ขณะเดียวกัน บริษัท ตงฮั้ว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TH ซึ่งทำสื่อสิ่งพิมพ์มาทั้งชีวิต จู่ ๆ ก็ฉีกมาทำธุรกิจบริหารจัดการหนี้ หรือ AMC ผ่านบริษัทลูกที่ชื่อว่า บริษัท บริหารสินทรัพย์ตงฮั้ว จำกัด ล่าสุดเพิ่งรับซื้อหนี้จากสถาบันแห่งหนึ่งเข้ามาจำนวน 3,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอแผนธุรกิจเพื่อจัดตั้ง JV AMC กับธนาคารแห่งหนึ่งด้วย…ก็ถูกคาดหวังว่า AMC จะเข้ามาชดเชยธุรกิจดั้งเดิมของ TH

รายล่าสุดเป็นบริษัท บี จิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ B ซึ่งเดิมทำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ตั้งแต่ท่าเทียบเรือ โรงพักสินค้า การขนถ่ายสินค้า ขนส่งทางถนน บริการเช่ารถเครน บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และบริการพิธีการศุลกากร…แต่ผลประกอบการของ B ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาขาดทุนซ้ำซาก เพิ่งจะมาปีที่แล้วที่พลิกมามีกำไรสุทธิ 129 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ขาดทุนสุทธิ 57 ล้านบาท…

แต่กำไรที่เห็นไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานนะ เป็นการบุ๊กกำไรพิเศษจากการขายทรัพย์สินถาวรและสิทธิการเช่าท่าเรือจำนวน 113 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายการที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวต่างหากล่ะ…ทำให้ B พยายามแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจ AMC ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี…

แต่เนื่องจาก B ไม่มีโนว์ฮาวทางด้านนี้ ก็เลยใช้วิธีไปซื้อบริษัท AMC ที่มีอยู่แล้ว เลยเป็นที่มาของมติบอร์ดเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2565 ไฟเขียวให้บริษัทลูก บริษัท บียอนด์ แคปปิตอล จํากัด เข้าซื้อหุ้นบริษัท บริหารสินทรัพย์ เอช-ดู จํากัด (เอช-ดู) จำนวน 250,000 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 100% ที่ราคาหุ้นละ 152 บาท มูลค่ารวม 38 ล้านบาท จากบริษัท เอช-ดู (ประเทศไทย) จํากัด และผู้ถือหุ้นรายย่อยของเอช-ดูอีก 3 ราย

น่าแปลก เท่าที่เห็นบริษัท AMC อื่น ๆ กำไรดี๊ดี…แต่พอไปส่องงบเอช-ดู ซึ่งทำธุรกิจ AMC มาเกือบ 8 ปีแล้ว (ก่อตั้งวันที่ 14 พ.ย. 2557) พบว่าขาดทุนเสียเป็นส่วนใหญ่…

โดยปี 2558 มีรายได้รวม 842,555 บาท ขาดทุน 147,803 บาท ปี 2559 มีรายได้รวม 357,127 บาท ขาดทุน 644,637 บาท ส่วนปี 2560 มีรายได้รวม 10.57 ล้านบาท กำไร 8.12 ล้านบาท และปี 2561 มีรายได้รวม 4.45 ล้านบาท กำไร 941,350 บาท แต่ปี 2562 มีรายได้รวม 1,664 บาท ขาดทุน 1.37 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 3.45 ล้านบาท ขาดทุน 620,724 บาท ปี 2564 มีรายได้รวม 1.08 ล้านบาท ขาดทุน 1.80 ล้านบาท

อ้าว…ไหงเป็นงี้ล่ะ..!! แล้วที่คาดหวังว่าเอช-ดูจะมาช่วยดันกำไร มิกลายเป็นบ่วงรัดคอแทนหรอกเหรอเนี่ย..?

ว่าแต่ทำไม B ไม่ซื้อบริษัทที่มีกำไรเข้ามาเลยนะ…อันนี้น่าคิด

อีกจุดที่น่าสนใจ โอเค…ตลาดนี้เข้ามาง่าย แต่หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การซื้อหนี้นะ อยู่ที่การติดตามทวงหนี้ได้หรือเปล่าต่างหาก..? ซึ่งต้องวัดกันที่ฝีมือแล้วล่ะ…

ก็ต้องจับตาว่า B หลังจากขึ้นท่า…มาล่าฝัน AMC จะปังหรือแป้ก..? โปรดติดตามตอนต่อไป

...อิ อิ อิ…

Back to top button