SVB ล้ม!..บทเรียนนโยบายเฟด

ถือเป็นความล้มเหลวของธนาคารสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อ SVB ธนาคารที่เน้นการลงทุนและปล่อยกู้ให้แก่สตาร์ตอัพใหญ่ มีอันต้องล้มครืนลง


ถือเป็นความล้มเหลวของธนาคารสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เมื่อ Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารที่เน้นการลงทุนและปล่อยกู้ให้แก่สตาร์ตอัพใหญ่ มีอันต้องล้มครืนลง จนเกิดกระแสความวิตกทั่วสหรัฐฯ และทั่วโลกว่า ธนาคารอันเป็นสถาบันที่แข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน ยิ่งกว่าบริษัทเอกชน เกิดล้มลงได้อย่างไร

สำหรับ Silicon Valley Bank (SVB) เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1983 สาขาแรกที่ San Jose เป็นยุคแรก ๆ ก่อนที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเติบโตแข็งแกร่งในสหรัฐฯ โดยมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อธุรกิจ เช่น เงินกู้เพื่อช่วยจัดหาเงินทุนสำหรับการซื้อกิจการ

โดย SVB แสดงโฆษณาบนเว็บไซต์ว่า “ช่วยธุรกิจในทุกขั้นตอน” มีสำนักงาน 29 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา ธนาคารขยายกิจการและมีผู้เข้ามาร่วมทุนจำนวนมาก และมีการขยายสาขาไปสหราชอาณาจักร, อิสราเอล, แคนาดา, จีน, เยอรมนี, ฮ่องกง, ไอร์แลนด์, เดนมาร์ก และสวีเดน พร้อมการขยายบริการการเงินใหม่ ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ในคราวเดียวกัน

จุดกำเนิดสูงการปิดตัวลงของ SVB เกิดจากมีการจำหน่ายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้จำนวนมาก ออกสู่ตลาดคิดเป็นมูลค่าเทียบเท่าเงินบาทราว 7.29 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้มูลค่าหน้าตั๋ว (Face Value) ของพันธบัตรและหุ้นกู้ที่มีการซื้อขายในตลาดรองปรับตัวลดลงตามระดับความเสี่ยง (Default Risk) ที่เพิ่มขึ้น ในลักษณะตรงกันข้าม (Direct Inverse)

จึงเป็นสาเหตุให้ SVB ประสบผลขาดทุนทันทีราว 6.24 หมื่นล้านบาท จากการจำหน่ายสินทรัพย์แบบเร่งด่วน หรือที่เรียกกันว่า Fire Sale Loss ผลขาดทุนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อข้อกำหนดเรื่องมูลค่าฐานทุนของธนาคาร และนำไปสู่การประกาศเพิ่มทุนตามรายงานข้างต้น เพื่อรักษาระดับฐานทุนให้มีความเหมาะสม รวมถึงเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ ที่กำหนดด้วย

จากการตรวจสอบงบการเงิน ณ สิ้นปี 2565 ของ SVB พบว่า มีสินทรัพย์รวม 7.29 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินสดและรายการเทียบเท่า 4.80 แสนล้านบาท, เงินลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ 4.17 ล้านล้านบาท, สินเชื่อ 2.56 ล้านล้านบาท และอื่น ๆ ราว 8 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินรวม 6.79 ล้านล้านบาทและคงเหลือเป็นส่วนทุน 5 แสนล้านบาท

ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) โดยหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากธนาคาร (FDIC) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศคุ้มครองเงินฝากลูกค้าธนาคาร SVB แบบ “เต็มจำนวน” ไม่จำกัดเพียง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐอีกต่อไป เพื่อลดความตื่นตระหนกแห่ถอนเงิน และฟื้นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นอกจากนี้เฟดประกาศตั้งโครงการ Bank Term Funding Program มูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยธนาคารที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง สามารถนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ตราสาร MBS และสินทรัพย์มีคุณภาพอื่น ๆ มาค้ำประกันที่ราคาต้นทุน (Par Value) เพื่อยื่นขอเงินกู้จากโครงการได้ ไม่ต้องเสี่ยงขายขาดทุนเหมือนดั่งที่เกิดขึ้นกับ SVB มาแล้ว

ปฏิเสธอีกหนึ่งปฐมเหตุสำคัญที่ทำให้ SVB เผชิญชะตากรรมเช่นนี้ หนีไม่พ้นบาดแผลที่ได้รับจากนโยบาย “ปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อยับยั้งเงินเฟ้อ” ของเฟดนั่นเอง

นั่นจึงทำให้การประชุมเฟด 21-22 มี.ค.นี้ เฟดน่าจะมีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เห็นได้จากล่าสุด FED Fund Futures ส่งภาพดอกเบี้ยปลายทางอยู่ที่ 5.25% ลดลงจากเดิม 5.75% เพราะนั่นไม่เพียงเป็นการเยียวยา “แผลเก่า” ของ SVB แต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิด “แผลใหม่” ในคราวเดียวกันด้วย..!??

Back to top button