ถอดรหัสบิลค่าไฟ ‘ยิ่งร้อน..ยิ่งแพง’..!?

ปรากฏการณ์ “ค่าไฟแพง” ที่เกิดขึ้นกับรอบบิลค่าไฟฟ้าช่วงนี้ เกิดจากหลากหลายเงื่อนไข และเกิดจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป...


เส้นทางนักลงทุน

หลังเกิดดราม่าวิวาทะทางสังคมว่าด้วย “ค่าไฟแพง” จนทำให้วันนี้ (21 เม.ย.) คณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) จะพิจารณาเรื่องการปรับลดค่าไฟฟ้าเอฟทีสำหรับงวดพ.ค.-ส.ค. 2566 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าที่รับภาระแทนประชาชนไปก่อน จาก 2 ปี เป็น 2 ปี 4 เดือน ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ปีนี้ (เดือน พ.ค.-ส.ค.) ลดลงจาก 4.77 บาท (ปัจจุบัน) และจะมีการประกาศใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ “ค่าไฟแพง” ที่เกิดขึ้นกับรอบบิลค่าไฟฟ้าช่วงนี้ เกิดจากหลากหลายเงื่อนไข และเกิดจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่แตกต่างกันไป…

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ออกมาชี้แจงรายละเอียดถึงเหตุผลที่ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้นสูง ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านทั่วไปอาจจะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม นั่นก็เพราะว่าการที่สภาพอากาศมีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลทำให้ต้องเพิ่มค่าไฟฟ้าถึง 3% โดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นประเภทต่าง ๆ จะกินไฟเพิ่ม แม้ว่าจะใช้เท่าเดิม ทั้งจำนวนชิ้น และระยะเวลาการเปิดใช้

นั่นก็เนื่องมาจากหลักการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ จะพยายามทำความเย็นหรือทำอุณภูมิให้เท่ากับที่ตั้งค่าไว้ จนส่งผลให้ไม่ว่าจะเป็นแอร์หรือตู้เย็น ต้องทำงานหนักไปด้วย เนื่องจากต้องรักษาความเย็นให้คงที่โดยไม่ตัดเลย ถึงใช้เวลาเท่าเดิมอย่างไร อัตราการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มกว่าปกติ

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ยกตัวอย่างการเปรียบเทียบให้เข้าใจมากขึ้น โดยหากย้อนไปดูหน่วยการใช้ไฟฟ้าเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ขณะนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 18-23 องศาเซลเซียส และเดือนมีนาคม 2566 ที่บางวันอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไป 38-40 องศาเซลเซียส ต่างกันถึง 20 องศาเซลเซียส โดยสูตรคำนวณตามสูตรของการไฟฟ้านครหลวง ที่ได้มีการทดสอบการทำงานของแอร์ 1 ตัว ขนาด 12,000 บีทียู เมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้อัตราการกินไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

พร้อมกันนี้ มีการอธิบายเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่างการทดสอบตั้งเครื่องปรับอากาศอุณภูมิภายในห้องที่ 26 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส ต่อเนื่อง พบว่าจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.69 หน่วยต่อชั่วโมง และหากคำนวณเป็นค่าไฟฟ้าในอัตราเฉลี่ยหน่วยละ 3.9 บาท ก็จะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2.69 บาทต่อชั่วโมง

หากสมมติว่าอุณหภูมิภายนอกห้องเพิ่ม 6 องศาเซลเซียส เป็น 41 องศาเซลเซียสต่อเนื่อง ทำให้เครื่องปรับอากาศดังกล่าวจะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ย 0.79 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเครื่องปรับอากาศจะใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 14% นั่นเอง และจะทำให้เสียค่าไฟฟ้าประมาณ 3.08 บาทต่อชั่วโมง

ดังนั้น จากค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกัน หากสมมติการใช้งานเครื่องปรับอากาศเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นาน 30 วัน การใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 35 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 646 บาท และการใช้เครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิภายนอกห้อง 41 องศาเซลเซียส จะมีค่าไฟฟ้าประมาณ 739 บาท มีราคาสูงกว่าเดิม 93 บาทต่อการใช้เครื่องปรับอากาศ 1 เครื่อง

คำแนะนำที่ทำได้โดยการประหยัดค่าไฟฟ้าคือ ประชาชนต้องหมั่นล้างแอร์ปีละ 2 ครั้ง และเพิ่มการเปิดพัดลมช่วยทำให้อุณหภูมิต่ำลง แอร์จะทำงานหนักน้อยลง

ขณะเดียวกัน รูปแบบอัตราค่าไฟฟ้ามี 3 รูปแบบ

รูปแบบที่ 1 อัตราปกติ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน โดยมีการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยไว้เป็นอัตราก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได

รูปแบบที่ 2 อัตราปกติ ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน ตรงนี้จะมีการคิดแบบอัตราขั้นบันไดเช่นกัน

รูปแบบที่ 3 อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff : TOU) เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดตามช่วงเวลาการใช้งานแบ่งเป็นช่วง On Peak ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเยอะ ค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะสูง และช่วง Off Peak ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย ค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะต่ำ โดยมีอัตราค่าคงที่ช่วงเวลาละ 2 อัตราเท่านั้น ไม่เพิ่มขึ้นแบบอัตราก้าวหน้า

โดยช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) คือระหว่างเวลา 09.00-22.00 น. (วันจันทร์-ศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้า 5.1135 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดัน 12-24 กิโลวัตต์ และ 5.7982 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลวัตต์

ส่วนช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) คือระหว่างเวลา 22:00-09:00 น. (วันจันทร์-ศุกร์ และวันพืชมงคล และตลอดทั้งวันของวันเสาร์-อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย) อัตราค่าไฟฟ้า 2.6037 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดัน 12-24 กิโลวัตต์ และ 2.6369 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลวัตต์

นอกจากนี้ ยังต้องมีการคำนวณเกี่ยวกับค่า Ft คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร เป็นค่าที่กำหนดขึ้นเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า เช่น ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง, ค่าซื้อไฟฟ้า, ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ ค่า Ft นี้จะเป็นค่าบวกหรือค่าลบก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา โดยจะมีการปรับทุก 4 เดือน

ทั้งหมดนี้ยังต้องนำไปคิดรวมอีกส่วน คือ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และกลายมาเป็นค่าไฟฟ้าที่ถูกคำนวณแล้วในแต่ละบ้าน สะท้อนค่าไฟฟ้าที่ใช้จ่ายจริงในแต่ละเดือน

Back to top button