ใครทำ naked short

Naked Short Selling กำลังถูกกล่าวถึงกันมากขึ้น นัยสำคัญว่า เป็น “ตัวการ” สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นไทย


Naked Short Selling กำลังถูกกล่าวถึงกันมากขึ้น

นัยสำคัญว่า เป็น “ตัวการ” สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดหุ้นไทย

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธุรกรรม naked short (การขายหุ้นออกไปโดยที่นักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง พร้อมกับคาดหวังว่าจะซื้อหุ้นตัวนั้นคืนได้เมื่อราคาหุ้นปรับตัวลง) ทางหน่วยงานกำกับด้านตลาดทุนของไทยไม่อนุญาตให้ทำ

Naked short จะแตกต่างกับ “ชอร์ตเซล”

แม้ว่า naked short จะเป็นธุรกรรมต้องห้ามสำหรับตลาดหุ้นไทย

แต่เหมือนจะเริ่มยอมรับกันแล้วว่า ธุรกรรมประเภทนี้ มีการ “แอบทำ” กันอยู่ และทางการยังสามารถตรวจจับได้

ล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า “อาจจะมีธุรกรรมนี้” 

หรือนายกฯ คิดว่า “มี” นั่นแหละ

ส่วน ภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เหมือนจะยอมรับเช่นกันแล้วว่า ก่อนหน้านี้เคยตรวจจับได้

ขณะที่ช่วงที่มีข่าวในขณะนี้ ยังไม่พบการทำความผิด

นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ต่างมั่นใจเช่นกันว่า มี naked short แน่นอน

เหตุที่มองเช่นนั้นมาจากประสบการณ์ของเขา ด้วยการดูจาก “อาการ“ ของหุ้นและภาพรวมของตลาดหุ้น

แล้วกลุ่มนักลงทุนที่ทำ naked short คือใคร

นักลงทุนรายใหญ่ตั้งข้อสงสัยว่า เป็นกลุ่มนักทุนต่างประเทศ (อาจเป็นสิงคโปร์) เป็นนักลงทุนที่เป็นรายบุคคลแล้วใช้บัญชีนักลงทุนสถาบันในการเทรด

เพราะนอกจากจะเสียค่าฟีต่ำกว่ารายบุคคลแล้ว

ยังตรวจจับได้ยากด้วย

มีการตั้งข้อสงสัยด้วยว่า การเทรดแบบ naked short ผ่านพอร์ตโบรกฯ แห่งหนึ่ง

และโบรกฯ แห่งนี้มีโปรแกรม naked short เพียงแห่งเดียวในไทย มีพอร์ตลูกค้าสถาบันต่างประเทศ และมีมาร์เก็ตแชร์ค่อนข้างสูง (ไม่ใช่โบรกฯ ตามที่เคยเป็นข่าว)

หุ้นหลายตัวมีพื้นฐานดี เจ้าของพยายามใช้มาร์จิ้นเข้ามาช่วยประคองราคาหุ้น

แต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านแรง naked short ได้

ก่อนหน้านี้เคยเขียนเป็นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง naked short ไว้บ้างแล้ว ว่าไม่ใช่ฝีมือของนักลงทุนรายบุคลทั่ว ๆ ไป

เพราะปกติแล้วระบบซื้อขายหุ้นของโบรกฯ จะ Lock ไว้ไม่ให้ขายหากเราไม่มีหุ้นตัวนั้น

นักลงทุนที่มีโอกาสทำแบบนี้ได้ต้องเป็นนักลงทุนกลุ่มที่ “ระบบ” ไม่ได้มีการ Lock หรือตรวจสอบหุ้นก่อนขาย

นั่นเพราะใช้ Custodian (บุคคลอื่นภายนอกโบรกฯ) ในการส่งมอบหุ้นในภายหลังที่ขายไป (T+2) และเป็นเรื่องที่ยากต่อการตรวจเช็กของ “โบรกฯ” และ “หน่วยงานที่กำกับดูแล

ปกติการขาย “ชอร์ตหุ้น” ภายใต้เกณฑ์กำกับในแต่ละประเทศนั้น

จะมีเกณฑ์เรื่องของราคาหุ้นที่ส่งคำสั่งขายชอร์ตหุ้นไว้เพื่อป้องกันผลกระทบกับราคาหุ้น

เช่น ในประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ขายชอร์ตได้แค่ที่ราคาล่าสุดเท่านั้น

หรือที่เรียกว่า Zero Plus Tick Rule ทำให้ไม่สามารถโยนขายหุ้นในหลาย ๆ ช่องที่ต่ำกว่าราคาล่าสุดได้

ขณะที่ Naked Short Selling จะไม่ผ่านการตรวจสอบตรงนี้ ทำให้สามารถโยนขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าราคาล่าสุดได้ โดย Naked Short Selling จะถูกทำโดยนักลงทุนที่ใช้ Custodian ซึ่งมักจะมีวงเงินในการซื้อขายหุ้นขนาดใหญ่ ทำให้การขายหุ้นอย่างรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นได้
อย่างที่เรารับรู้กัน

ตลาดหุ้นไทย กำลังเผชิญกับปัจจัยลบหลายด้าน

แล้วยังมีเรื่อง naked short เข้ามาผสมโรงอีก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ล่าสุด ทางการประเทศจีนออกประกาศห้ามนักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นออกมา

นัยฯ เพื่อพยายามรักษาตลาดหุ้นไว้ไม่ให้ตกต่ำ

แตกต่างจากของไทยที่ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา เพื่อที่จะเรียกความมั่นใจให้กับนักลงทุน (นอกเหนือไปจากแค่บอกว่า บจ.ไทยพื้นฐานดี)

ในทางกลับกัน ยังคงความเข้มงวดในหลาย ๆ มาตรการ ทั้งหุ้นไอพีโอ การส่งคำเตือนราคาหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมาแรง ระวังลงทุนในหุ้นตัวนั้นตัวนี้ ฯลฯ

จนทำให้ขาดสีสันในการเทรด

นักลงทุนอาจจะค่อย ๆ เริ่มหายไปจากตลาด

วอลุ่มเทรดลดลง

นักลงทุนสถาบันโยนหุ้นกันไปมา

บรรยากาศดูแล้ววังเวงจริง ๆ

Back to top button