เจาะ 7 หุ้นได้-เสียดอกเบี้ยขาลง

บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า การลดดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้จะสร้าง sentiment เชิงบวกให้กับตลาด สำหรับกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลดีจากกรณีดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มลิสซิ่ง และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเสียประโยชน์


บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (30 เม.ย.) ว่า วานนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.5% ด้วยมติ 5 ต่อ 2 เสียง นับว่า ดีกว่าตลาดคาดว่าจะคงดอกเบี้ยฯ ที่เดิม หลังจากประกาศลดไปแล้ว 0.25% เมื่อ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาด ทำให้สำนักงานวิจัยต่างๆ มีแนวโน้มปรับลดประมาณการ GDP Growth โดยล่าสุด ASP ได้ปรับลดลงไปแล้วเหลือ 2.5%

ขณะที่ผลการสำรวจของกรุงเทพโพลล์ล่าสุด ได้สรุปความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะตกท้องช้าง หรือภาวะถดถอย เนื่องจากปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีเพียง ภาคท่องเที่ยงและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐเท่านั้น และยังคาดหมายว่าในระยะ 3 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย (Recession)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลดดอกเบี้ยฯในครั้งนี้ น่าจะสร้าง sentiment เชิงบวกให้กับตลาดบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มลิสซิ่งที่มีต้นทุนดอกเบี้ยลอยตัว หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากเรื่องของ Sentiment เป็นหลัก ดังนี้

 

กลุ่มแรกคือ กลุ่มลิสซิ่ง นักวิเคราะห์ ASP ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 25bp จะทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2558 ของกลุ่มฯเพิ่มขึ้น 0.78% โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการกู้ยืม (ภาระหนี้สิน) เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ส่งผลให้ส่วนที่เป็นฐานต้นทุนลดลง เทียบกับรายรับด้านการปล่อยสินเชื่อ (รายได้ดอกเบี้ย) ซึ่งมีสัดส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในปริมาณสูง รายได้จึงไม่ได้ลดตามดอกเบี้ยที่ปรับลดลง โดย ASK ([email protected]) น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่มีจุดเด่นคือ มีค่า PER ต่ำเพียง 8 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงมากถึง 8%

 

L01 P01

 

ตามมาด้วย กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แม้เชื่อว่าจะไม่ได้กระตุ้นกำลังซื้อโดยตรงก็ตาม แต่คาดว่าภาพอุตสาหกรรมโดยรวมน่าจะได้รับ sentiment เชิงบวก กล่าวคือ ผู้พัฒนาบ้านขาย สามารถรับรู้ได้ตามแผนหรือเร็วกว่าคาด เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจการโอนกรรมสิทธิ์เร็วขึ้น หรือทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะมีอัตราการปฎิเสธสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยลดลง และดอกเบี้ยที่ลดลง คาดว่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมลง

จากการศึกษาพบว่า ดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% น่าจะทำให้รายการดอกเบี้ยจ่ายในงบกำไรขาดทุนของผู้พัฒนาบ้านขายหายไป 139 ล้านบาท คิดเป็น 0.35% ของประมาณการกำไรปี 2558 หุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่นชอบ ซึ่งมีฐานลูกค้าระดับกลางและล่าง คือ SPALI ([email protected]) มีค่า PER ต่ำเพียง 6.3 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงถึง6.5% ตามมาด้วย PS ([email protected]) มีค่า PER ต่ำเพียง 8 เท่า แต่คาดหวัง Div.Yield ได้สูงถึง 4.2%

 

ตรงกันข้ามหุ้นที่คาดว่าจะเสียประโยชน์ยังเป็น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าดอกเบี้ยที่ลดลง 0.25% จะทำให้กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2558 หายไปราว 0.67% จากฐานกำไรที่ประเมินไว้ที่ 2.23 แสนล้านบาท หรือน่าจะหายไปราว 1พันล้านบาท (กระทบต่อ ส่วนต่างดอกเบี้ยรับสุทธิ หรือ NIM โดยพบว่าทุกๆ 25bp ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงจะทำให้คาดการณ์ NIMลดลง 1.44bp จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 3.08% มาที่ 3.07%)

ทั้งนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์ที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดกรณีอัตราดอกเบี้ยปรับตัวลดลงคือ KTB และ BBL เนื่องจากมีโครงสินเชื่อที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนที่สูงกว่าโครงสร้างแหล่งเงินทุนที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ตรงกันข้ามธนาคารพาณิชย์ที่จะได้รับผลบวกจากดอกเบี้ยขาลงมากที่สุดคือ BAY และ KKP

นักวิเคราะห์กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของ ASP ปรับลดประมาณการและคำแนะนำการลงทุนของกลุ่มที่เท่ากับตลาด เป็นน้อยกว่าตลาด เนื่องจากคาดว่าอัตราการเติบโตของ กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะลดลงเหลือเพียง 3.9% หลังการลดลงดอกเบี้ยรอบใหม่ จากปัจจุบันที่เติบโต 8%

ที่มา: บทวิเคราะห์ Market Talk 30 เม.ย.58

 

วานนี้ (29 เม.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 1.50% หลังประเมินว่าเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวต่ำกว่าคาด แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้เพิ่มขึ้นและท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกและการบริโภคที่อ่อนแรงในไตรมาส 1/58

อีกทั้งในระยะข้างหน้ามองว่าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลก ดังนั้น กนง.มองว่านโยบายการเงินต้องผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าการลดอตราดอกเบี้ยรอบนี้จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นได้

 

นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ กนง. เปิดเผยว่า ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในการตัดสินนโยบาย มีดังนี้ เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ทำได้เพิ่มขึ้นและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแรงกว่าคาดมากในไตรมาสที่ 1/58

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าภาคการส่งออกมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และโครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลง รวมทั้งจากแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่นที่ลดลงแรงกดดันเงินเฟ้อลดต่ำลงสอดคล้องกับอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจที่มีน้อยกว่าคาด ขณะที่ต้นทุนโดยเฉพาะราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องเพิ่มสูงขึ้นและการคาดการณ์เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับลดลง

 

ms20150430

 

ในการตัดสินนโยบายคณะกรรมการฯ เสียงส่วนใหญ่ประเมินว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาวะที่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนดูแลการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม คณะกรรมการฯ เสียงส่วนน้อยเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่านมามีส่วนช่วยให้ภาวะการเงินผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมมีจำกัด

ขณะที่แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่มากขึ้นจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง จึงเห็นควรให้รอประเมินผลต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินก่อนที่จะดำเนินนโยบายเพิ่มเติมในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จะดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลให้ภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยและใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์

Back to top button