AQ แจงปมที่ดิน 4,300 ไร่ละเอียดยิบ พร้อมกลับเข้าเทรดเร็วๆนี้ หลังสัญญาณหนี้กรุงไทยราบรื่น

AQ เดินหน้าออกหุ้นเพิ่มทุน เร่งนำเงินใช้หนี้ “กรุงไทย” หมื่นลบ. แจงละเอียดยิบไม่กระทบหากถูกเพิกถอนสัญญาขายที่ดิน 4,300 ไร่ มั่นใจกลับมาเทรดรอบใหม่เร็วๆนี้


สืบเนื่องจากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ บริษัทเอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ ชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนได้รับ ทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนและชัดเจน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบพิจารณาในการรับหุ้นเพิ่มทุนจดทะเบียนใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.สัญญาจัดการทรัพย์สินและคำพิพากษาของศาลแพ่งระหว่างบริษัทโกลเด้น อินดัสเตรียล พาร์ค จำกัด (โกลเด้น) กับธนาคารกรุงไทย และ 2.การประเมินมูลค่าหุ้น AQ โดยบริษัทเอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด (S14)

ล่าสุด บริษัท AQ ชี้แจงว่า ประเด็นแรก สัญญาจัดการทรัพย์สินนั้น AQ ไม่ทราบว่าเหตุใดนายวิชัย กฤษดาธา นนท์ จึงฟ้องร้องขอยกเลิกเพิกถอนสัญญาจัดการทรัพย์สิน ที่ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ตลอดจนห้ามก่อนิติกรรมใดๆ กับที่ดินหลักประกันเนื้อที่ 4,323 ไร่ ทั้งๆที่ตลอดเวลาของการเจรจาและดำเนินการ 2 ปีที่ผ่านมาครอบครัว กฤษดาธานนท์ รับทราบรายละเอียดมาโดยตลอด และเห็นว่าหาก AQ มาช่วยจัดการขายที่ดินย่อมมีโอกาสจะขายที่ดินได้ 11,500 ล้านบาทตามที่ธนาคารอนุมัติไว้ โดยคดีนี้ศาลนัดชี้ 2 สถาน หรือ สืบพยานโจทย์ครั้งแรกวันที่ 12 ตุลาคมนี้

ทั้งนี้ AQ เข้าทำสัญญาจัดการทรัพย์สิน ระหว่าง AQ โกลเด้น และบริษัทโปรเกรส พร๊อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด(โปรเกรส) ระยะ 3 ปี คือระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2558-16 กันยายน 2561 โดยโปรเกรสโอนหุ้นโกลเด้นให้ AQ จำนวน 68% เพื่อการติดต่อนักลงทุนที่สนใจและทำข้อตกลงกับธนาคารได้ และเมื่อขายทรัพย์สำเร็จ AQ จะสละการถือหุ้นในโกลเด้นทั้งหมด

ส่วนเรื่องคำพิพากษาของศาลแพ่งระหว่างโกลเด้นกับธนาคารกรุงไทย โดยธนาคารกรุงไทยฟ้องแพ่งโกลเด้นกับพวก 4 ราย เรียกชำระหนี้ 10,234 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี AQ ชี้แจงว่า AQ ไม่ได้เป็นจำเลยในคดี ดังนั้นการทำสัญญาประนีประนอมระหว่างธนาคารและโกลเด้น ซึ่งเป็นเรื่องของการชำระหนี้ในคดีแพ่ง จะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นต้องขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่าย แต่ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยเลือกจะบังคับในคดีอาญาแทนคดีแพ่งที่ยังไม่ยุติ โดยศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีแพ่งวันที่ 28 กันยายนนี้

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องของ AQ ที่ขอคำอธิบายข้อความคำพิพากษาที่ว่า หากมีการชำระหนี้ในคดีแพ่งจะถือเป็นค่าเสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถ้าธนาคารผู้เสียหายได้รับชำระคืนในคดีแพ่งเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้ใช้คืนตามส่วนนั้น ดังนั้นหนี้ในคดีแพ่งและคดีอาญาจึงเป็นมูลหนี้เดียวกัน

ขณะที่ AQ ยังชี้แจงด้วยว่า หมายศาลเพื่อขอให้เพิกถอนสัญญาจัดการทรัพย์สินดังกล่าวไม่กระทบต่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษา 10,004 ล้านบาท แผนการชำระค่าเสียหายของ AQ และไม่กระทบต่อสัญญาประนีประนอมของโกลเด้นกับธนาคาร เนื่องจากเมื่อธนาคารยึดที่ดินในคดีอาญาแล้ว ดังนั้นการอยู่หรือไม่อยู่ของสัญญาจัดการทรัพย์สิน ที่ดินของโกลเด้นจำนวน 4,323 ไร่ ก็ถูกบังคับคดีอยู่แล้ว

ส่วนการตั้งสำรองความเสียหายโดยใช้มูลค่าบังคับขายจากที่ดินหลักประกัน 4,300 ไร่ ที่กำหนดไว้ในอัตรา 50% ของราคาตลาดนั้น มีความเหมาะสม เนื่องจากคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าไม่มีโอกาสที่จะขายที่ดินให้แก่ผู้สนใจได้โดยตรง จะต้องเป็นการบังคับขายทอดตลาดเท่านั้น และเงินที่ได้จะถูกนำไปชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งหมด

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทเห็นว่า การขอให้บริษัทเพิกถอนสัญญาการจัดการทรัพย์สินจะไม่กระทบต่อแผนการชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษา 10,004 ล้านบาท ของ AQ ดังนั้นคดีดังกล่าวจึงไม่มีผลต่อการตั้งค่าความเสียหายจำนวน 4,687 ล้านบาท ตามงบการเงินปี 2559

ส่วนกรณีที่ AQ ไม่ได้รับสัญญายืนยันการใช้สิทธิไล่เบี้ยจากบริษัทเค แอนด์ วี เอส อาร์ การ์เด้นโฮม จำกัด(การ์เด้นโฮม)นั้น ที่ปรึกษากฎหมายมีความเห็นว่าโกลเด้นไม่สามารถสวมสิทธิธนาคารเพื่อไล่เบี้ยจาก AQ ได้ เพราะหากธนาคารได้รับเงินจากการบังคับขายทอดตลาดที่ดินที่เป็นเหตุแห่งความเสียหายแล้ว โกลเด้นซึ่งถือหุ้นในการ์เด้นโฮม 99.99% ก็ไม่สามารถไล่เบี้ยได้อีก และ AQ ไม่ต้องดำเนินการใดๆในประเด็นนี้อีก

ประเด็นต่อมา การประเมินมูลค่าหุ้น AQ โดยบริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด ฉบับที่จัดส่งให้ตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการรับหุ้นเพิ่มทุนที่จัดสรรให้บุคคลในวงจำกัด (PP) ที่ราคาหุ้นละ 0.05 บาท เมื่อวันที่ 12-14 และ 17-19 กรกฎาคม 2560 โดยไม่ขอเข้าเงื่อนไขห้ามซื้อขายหุ้น(Silent Period) เนื่องจากราคาขาย PP สูงกว่า ราคาประเมินโดย เอส 14 ที่ 0.04 บาทต่อหุ้นนั้น

โดย AQ ชี้แจงว่า เนื่องจากบริษัทต้องเร่งจัดสรรและจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาชำระค่าเสียหายในคดีอาญา และหุ้นของบริษัทถูกพักการซื้อขาย จึงไม่สามารถหาราคาตลาดได้ และไม่มีราคา Book Building คณะกรรมการจึงพิจารณาจัดสรรโดยราคายุติธรรม ที่ประเมินโดยที่ปรึกษาการเงิน ที่ทำรายงาน 2 ฉบับ ใช้ราคาประเมินทรัพย์สิน 37 รายการ โดยวิธีปรับปรุงมูลค่าตามบัญชี และวิธีส่วนรวมของกิจการ

ทั้งนี้ที่ปรึกษาทางการเงินพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าหุ้นมากที่สุด คือการตั้งสำรองค่าความเสียหายตามคำพิพากษาคดีอาญญา จำนวน 4,686 ล้านบาท มาจาก มูลค่าที่ AQ ต้องชำระตามคำพิพากษา 10,004 ล้านบาท หักด้วยประมาณการจำนวนเงินที่ธนาคารจะรับจากการขายทอดตลาดในราคาที่บังคับขาย 5,800 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่สมุติฐานของรายงาน 2 ฉบับแตกต่างกันนั้น เนื่องจากระยะเวลาของการเก็บข้อมูลเป็นคนละช่วงเวลา ฉบับแรก 31 พฤษภาคม 2560 ใช้งบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2559 และข้อมูลการขายโครงการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงถึงสิ้นปี 2559 ส่วนฉบับที่ 2 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 2560 ใช้งบการเงินปี 2559 และข้อมูลการขายโครงการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2560

โดยคณะกรรมการ AQ เห็นว่า ราคาหุ้น 0.04 บาท ที่ เอส 14 ประเมินตามรายงานฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เป็นราคาที่เหมาะสม จัดทำบนงบการเงินล่าสุด ปี 2559 ที่ผ่านการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีแล้ว และวิธีที่ใช้ในการประเมินก็เป็นวิธีที่ปฎิบัติโดยทั่วไป ราคาประเมินที่ได้จึงสะท้อนถึงมูลค่ากิจการของ AQ ที่ใกล้เคียงปัจจุบันที่สุด ดังนั้นราคาที่เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ PP ที่หุ้นละ 0.05 บาท จึงมีความเหมาะสม จึงไม่เข้าข่ายการจำหน่ายหุ้นราคาต่ำตามประกาศก.ล.ต.

ทั้งนี้ เมื่อมีการชี้แจงผ่านทางสารสนเทศแล้ว คาดว่าตลาดหลักทรัพย์จะอนุมัติรับหุ้นเพิ่มทุนเข้าสู่ระบบการซื้อขายเนื่องจากนักลงทุนได้ชำระเงินเพิ่มทุนไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2560

Back to top button