BLA กับ ‘โสภณพนิช’

นั่งเฝ้ามองราคาหุ้น “กรุงเทพประกันชีวิต” หรือ BLA แล้วใจหาย


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

นั่งเฝ้ามองราคาหุ้น “กรุงเทพประกันชีวิต” หรือ BLA แล้วใจหาย

ราคาหุ้นที่กำลังพุ่งขึ้นไปสวยๆ กลับร่วงแบบหัวทิ่ม

ล่าสุดปรับลงมาเหลือ 37.25 บาท

หรือหากนับจากวันที่แบงก์กรุงเทพ (BBL) แจ้งข่าวเป็นพันธมิตรกับ เอไอเอ เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคม 60 ราคาหุ้น BLA ปรับลงมาแล้ว 15-16%

ผมนั่งอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกฯ หลายแห่ง

ส่วนใหญ่แนะนำ “ขาย” กับ “ถือ”(ช่วงที่ราคาหุ้นอยู่ราวๆ 40 บาท)

มีบางแห่งยังคงแนะนำ “ซื้อ”

ผ่านมาถึงวันนี้ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่า หุ้น BLA จะได้รับผลกระทบแค่ไหน

ความไม่ชัดเจนแบบนี้ทำให้เกิดการ “ชะลอลงทุน”

แต่การที่ราคาหุ้นลงมาเหลือ 37 บาทกว่าๆ แบบนี้ ก็ถือว่า ใกล้เคียงกับราคาเป้าหมายของโบรกฯต่างๆ

และก็อาจชวนเชื่อไปได้ว่า ราคาหุ้นไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้แล้วล่ะ

มีคำถามเกิดขึ้นมากมายครับ

คำถามที่ว่านั้น คือ เกิดอะไรขึ้นกับ BLA

แล้วเหตุใดแบงก์กรุงเทพถึงทำกับ BLA แบบนี้กันหนอ

BLA มีกลุ่มโสภณพนิช ถือหุ้นรายใหญ่ เช่นเดียวกับแบงก์กรุงเทพที่กลุ่มโสภณพนิช ก็ยังกุมบังเหียนอยู่

BLA ก่อนที่จะทำธุรกรรมแบงก์แอสชัวรันส์อย่างเต็มตัว ก็ถือว่ามี “กองทัพตัวแทน” ในระดับพอประมาณ และมาร์เก็ตแชร์ก็อยู่อันดับ 5–6

หลังจากทำแบงก์แอสชัวรันส์กับแบงก์กรุงเทพ

ตัวเลขเบี้ยประกันได้ก้าวกระโดดขึ้นมา

และ BBL ก็มีรายได้จากค่าธรรมเนียม(ฟี) เพิ่ม

ความร่วมมือของทั้ง 2 แบรนด์ ไม่ได้มีสัญญาณอะไรออกมาที่จะทำให้ชวนคิดไปว่า จะเกิดปัญหาเช่นวันนี้

หากจำกันได้นะครับ

ในช่วงกลางปี 59 “โชน โสภณพนิช” ที่เป็นลูกชายของ “เชิดชู โสภณพนิช” ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีผลวันที่ 1 กรกฎาคม 2559

มีข่าวลือออกมาว่า “ถูกกดดัน”

เพราะ BLA ไปเน้นขายประกันระยะสั้นมากเกินไป

กระทั่งต้องตั้งสำรองฯ จำนวนมาก เป็นเหตุให้ผลประกอบการออกมาไม่สวยหรู

แต่ก็มีข่าวออกมาจากคนใกล้ชิดของ “โชน”

มีการระบุว่า โชน เขาต้องการไปใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ เพื่อไปอยู่กับลูกที่ศึกษาอยู่ที่สหรัฐฯ

ในปลายเดือนพฤศจิกายน 59 ก็มีเรื่องเกิดขึ้นกับ BLA อีก

เมื่อ “เชิดชู โสภณพนิช” ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และประธานกรรมการลงทุน ด้วยเหตุผลว่า “มีปัญหาสุขภาพ”

แต่ในวันถัดมา มีข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต.เกี่ยวกับการกล่าวโทษ “เชิดชู”

การกล่าวโทษที่ว่านั้น ส่งผลต่อคุณสมบัติการเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียน(บจ.)

ปัจจุบัน คนที่เข้ามารั้งตำแหน่งแทนเชิดชู ก็คือ “ศิริ การเจริญดี”

ส่วนตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ หลังการลาออกของโชน ก็เว้นว่างช่วงเวลาหนึ่ง

ก่อนที่จะมีชื่อของ “วิพล วรเสาหฤท” เข้ามารับหน้าที่แทนเมื่อ 1 มีนาคม 2560

วิพล คนนี้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการขายประกันผ่านธนาคารอย่างมากครับ

ก่อนหน้านั้น วิพล รั้งตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และเคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต(SCBLIFE)

BLA ใช้เวลาอยู่ค่อนข้างนานในการทาบทาม “วิพล”

กระทั่งเจ้าตัวใจอ่อน

ผ่านมาถึงขณะนี้ ไม่แน่ใจว่า วิพล กำลังคิดอยู่หรือไม่ว่า ตนเองนั้นคิดถูก หรือผิด

เพราะดีลแบงก์กรุงเทพ กับ เอไอเอ กลายเป็น “ความท้าทาย” ใหม่สำหรับ “วิพล” ใน BLA

เอไอเอ นั้น เคยเป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องการเข้ามาซื้อหุ้นใน SCBLIFE โดยต้องการซื้อหุ้นจากแบงก์ไทยพาณิชย์

เอไอเอ แม้จะมี “กองทัพตัวแทน” ที่แข็งแกร่งมาก

ทว่า กลับถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากบริษัทประกันชีวิตที่มีแบงก์เป็นพันธมิตรจากช่องทางการขายประกันผ่านธนาคาร

ล่าสุด 7 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ค. 60)ปีนี้ เป็นปีแรกที่เอไอเอ มีส่วนแบ่งตลาด(เบี้ยรับรวม) หล่นมาอยู่อันดับ 2

ปล่อยให้ “เมืองไทยประกันชีวิต” ที่เป็นพันธมิตรกับแบงก์กสิกรไทยกระโดดขึ้นมาแทน

เข้าใจว่า ดีลระหว่างเอไอเอกับ SCB ตกลงเรื่องราคาซื้อขาย SCBLIFE กันไม่ได้

ทำให้เอไอเอ ต้องหาพันธมิตรใหม่ที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่

และนั่นก็คือแบงก์กรุงเทพ

ส่วนแบงก์กรุงเทพเอง ก็มีข่าวว่า “คนข้างใน” ก็ไม่ปลื้มกับ BLA มากนักในหลายๆ เรื่อง

ต่อไป BLA ต้องยืนด้วยลำแข้งตนเองให้มากขึ้น

Back to top button