AQ เจอท่ายากกว่า

ปมที่ยังแก้ไม่หมด อย่างไรเสียก็ยังเป็นปมให้สะดุดวันยังค่ำ ...ถ้ามีคนพร้อมจะเขี่ยปมนั้นขึ้นมา


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

ปมที่ยังแก้ไม่หมด อย่างไรเสียก็ยังเป็นปมให้สะดุดวันยังค่ำ …ถ้ามีคนพร้อมจะเขี่ยปมนั้นขึ้นมา

บทเรียนเรื่องนี้ยังคงเกิดขึ้นกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกำมือของจอมยุทธ์หุ้นนิรนาม บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ หรือชื่อเดิม บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) หรือ KMC ….ในกรณีปมยุ่งเหยิงของที่ดินเนื้อที่ 4,323 ไร่ ที่ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 23 ถนนบางนา-ตราด จ.สมุทรปราการ ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นทรัพย์หลักประกันมูลหนี้จำนวน 8,300 ล้านบาทที่มีกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB  10,004.44 ล้านบาท เมื่อหลายปีมาแล้ว

รากเหง้าของหนี้ดังกล่าว ถือเป็น “มรดกบาป” จากอดีตเมื่อครั้งยังเป็น KMC (ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานกรรมการบริษัทในยามนั้น) ภายใต้กำมือคุมอำนาจบริหารของตระกูลกฤษดาธานนท์ ที่ถูกนำไปโยงใยเป็นลูกหนี้ร่วมของธนาคารกรุงไทย ผ่าน บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด ที่กู้เงิน 9,900 ล้านบาท (วงเงินไฟแนนซ์ 8,000 ล้านบาท วงเงินซื้อที่ดินเพิ่ม 500 ล้านบาท และวงเงินพัฒนาโครงการ 1,400 ล้านบาท) ที่ว่ากันตามจริง….ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกันเลยกับ KMC ยกเว้นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกันบางคน….ซึ่งถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษา ลงโทษโยงใยเข้าหากัน……ตามคดีดำที่ อม. 3/2555 วันที่ 26 สิงหาคม 2558

เมื่อศาลฯบอกว่าเกี่ยว … ใครจะกล้าเถียงล่ะ… ก็ต้องเกี่ยวจนได้

แล้วผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ของ AQ ก็ไม่ขัดข้องจะให้เกี่ยวเสียด้วย… ตามเจตนา

ตามเงื่อนไขที่ทราบกันดี AQ ต้องทำการเพิ่มทุนมหาศาล เพื่อหาเงินไปชำระหนี้ที่มีมากมายส่วนหนึ่ง เพื่อปลดภาระที่ดิน คือให้เจ้าหนี้ คือ KTB นำที่ดินมาขายทอดตลาด เพื่อหักกลบหนี้ให้หมด

เดิมทีข่าวที่ออกมานั้น หาก AQ สามารถชำระหนี้ก้อนแรก จะสามารถไถ่เอาที่ดินติดจำนองไปขายทอดตลาด…ได้สิทธิ์ซื้อที่ดินที่เป็นหลักประกันจำนวน 4,323 ไร่กลับคืนมา ในราคาประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท….ถูกเหมือนได้เปล่า

แต่….อีท่าไหนไม่ทราบ เงื่อนไขพิเศษนี้ ไม่มีการพูดถึงกันอีกเลย ในเวลาต่อๆ มา

ขั้นตอนการเพิ่มทุนแบบชุลมุนชุลเกของ AQ…ผ่านไปแล้ว จากกระบวนการเพิ่มทุนที่มีการปรับปรุงหลายครั้ง… จากเดิมที่ประกาศ อีกประมาณ 21 เท่า จากระดับ 6.337 พันล้านบาท เป็น 1.47 แสนล้านบาท จะเพิ่มทุนขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวน 100,000,000,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท และเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวนไม่เกิน 125,000,000,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท โดยผู้ถือหุ้นเดิม จะได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ หรือ วอร์แรนต์ AQ-W4 จำนวนไม่เกิน 56,337,341,768 หน่วย ฟรี

การเพิ่มทุนที่มีการปรับปรุงแล้วนี้ (ออกจำนวนหุ้นเพิ่ม และลดราคาขายลง พร้อมเงื่อนไขใหม่ ที่ตัดทิ้งข้อความที่ ก.ล.ต.เดียดฉันท์แล้ว) แม้จะขายไม่หมด จะด้วยเหตุใดก็ทราบกันดี แต่ไม่อยากฟื้นฝอยให้ยุ่งยาก…มีผลทำให้ AQ ได้รับเงินสดจากผู้ถือหุ้นทันที  จากจำนวนหุ้นเพิ่มทุน ที่ขายได้จำนวน 72,640 ล้านหุ้น หรือ ประมาณ 3.6 พันล้านบาท

หุ้นเพิ่มทุนที่ว่า ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2560 เป็นต้นมา ท่ามกลางเรื่องราว “ท่ายาก” สารพัดในการเพิ่มทุน… ทำเอาฮือฮากันไปพักหนึ่ง

ผลของการเพิ่มทุน ทำให้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ก็มีประกาศจาก KTB ว่าได้รับชำระหนี้งวดแรกจาก AQ จำนวน 1,635 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตามเงื่อนไขทางกฎหมาย ทำให้ KTB ไม่สามารถบังคับหลักทรัพย์จาก AQ แต่สามารถดำเนินการบังคับหลักประกันจากผู้กู้ คือ บริษัท โกลเด้น อินดัสเทรียล เทคโนโลยีฯ และ บริษัท เคแอนด์วีเอสอาร์เอส การ์เด้นโฮม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเนื้อที่ 4,323 ไร่ และเป็นทรัพย์หลักประกัน มูลหนี้จำนวน 8,300 ล้านบาท ….เอามาขายทอดตลาดได้ เพื่อบันทึกกลับเป็นรายได้ หลังจากทนทรมานกับการตั้งสำรองมาหลายปีดีดัก

ขั้นตอนต่อไปธนาคาร KTB จะต้องประสานกับกรมบังคับคดีเพื่อนำที่ดินแปลงดังกล่าวออกประมูลขายทอดตลาด โดยคาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้  และหากเป็นไปตามแผนดังกล่าว KTB จะบันทึกการรับรู้รายได้จำนวน  10,004 ล้านบาทได้ทันที

ข้อดีสำหรับ AQ อยู่ที่ว่า ภายหลังจากวางเงินชดใช้หนี้งวดแรกนี้แล้ว และเมื่อจบกระบวนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว จะหลุดจากการเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทันที…เป็นไทเสียที และยังสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยจากจำเลยร่วมที่เหลือได้ เช่น จาก นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และ นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ เป็นต้น ทำให้ AQ เปลี่ยนสภาพจากการเป็นลูกหนี้มาเป็นเจ้าหนี้ทันที

เรื่องน่าจะจบได้สวย แบบวิน-วิน เพราะกรมบังคับคดีได้ฤกษ์เปิดประมูลที่ดินหลักประกัน 4,323 ไร่ ของ AQ นัดแรก ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ตั้งราคาประเมินไว้ที่ 8 พันล้านบาท

บังเอิญว่าในเงื่อนไขกฎหมายมีระบุว่า ในขั้นตอนของการขายทอดตลาดตามกฎหมายใหม่ สามารถเปิดประมูลขายได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยเว้นระยะในแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน และ….การขายทอดตลาดจะสำเร็จโดยสมบูรณ์เมื่อไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดียื่นคัดค้าน

เมื่อมีช่อง ก็ต้องมีคนใช้สิทธิ์

คนแรกที่ใช้สิทธิ์ อย่าได้แปลกใจ…..นายวิชัย กฤษดาธานนท์ ขอใช้สิทธิ์คนแรก ฟ้องร้องเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ขอยกเลิกเพิกถอนสัญญาจัดการทรัพย์สิน…ตลอดจนห้ามก่อนิติกรรมใดๆ กับที่ดินหลักประกันเนื้อที่ 4,323 ไร่

ผลลัพธ์คือ การประมูลขายทอดตลาดครั้งแรก ล่มไปเพราะต้องรอคำสั่งศาลฯใหม่ว่าจะรับคำฟ้องหรือไม่

หงายเงิบไปตามๆ กัน ทั้ง  AQ (ที่หวังดันราคาหุ้น) และ KTB (ที่หวังบันทึกรายได้พิเศษ)… ในไตรมาสสี่ปีก่อน…แม้กรมบังคับคดีก็ยังไว้ฟอร์ม เลื่อนมาประมูลครั้งที่สอง วันที่ 27 ธันวาคม 2560

จากนั้น รักษาระยะห่างกันพอประมาณ…ไม่ให้ถูกหาว่าสมคบคิดกัน…รายที่สองก็ตามมา

คราวนี้ ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับแจ้งคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกา) ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ซึ่งการงดการบังคับคดีดังกล่าวจะมีผลไปจนกว่าศาลฎีกาจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

จำต้องหงายเงิบครั้งที่สอง…เหตุก็เนื่องมาจากการที่นายวิโรจน์ นวลแข (ในฐานะจำเลยที่ 3 ตามคดีดำที่ อม. 3/2555 วันที่ 26 สิงหาคม 2558) ขอใช้สิทธิ์ “คนคุกผู้ทรงเกียรติ”….ได้ยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว ต่อศาลฎีกา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2560 ซึ่งศาลฯได้ทำการนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 แล้วมีคำสั่งให้สำเนาคำร้อง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดี และคู่ความที่เกี่ยวข้องทราบ โดยให้คู่ความที่เกี่ยวข้องทำการคัดค้านคำร้องดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง และให้เลื่อนคดีไปนัดไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 5 มีนาคม และ 8 มีนาคม 2561 รวมทั้งมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ในระหว่างที่ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องจนกว่าศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

ผลลัพธ์คือ ปมก็ยังเป็นปม… เพราะยังมีคนได้เสียจากการคลายปม และขมวดปม ส่วนจะได้เสียอย่างไร… ต้องติดตาม

เหตุผลเพราะ … ท่าเดิมว่ายาก เจอท่ายากกว่า … เหนือฟ้า ยังมีฟ้า ….ก็ต้องลากกันยาววววว

..อิ..อิ..อิ..

Back to top button