“ผู้สูงอายุ” กับโอกาสทางธุรกิจ

ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้จำนวนประชากรมีอายุยืนสูงขึ้นส่งผลให้ “ผู้สูงอายุ” กลายเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจในเชิงธุรกิจการตลาดและเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง จนไม่อาจปฏิเสธได้ด้วยประการทั้งปวง


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ด้วยวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ผู้คนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น ทำให้จำนวนประชากรมีอายุยืนสูงขึ้นส่งผลให้ “ผู้สูงอายุ” กลายเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจในเชิงธุรกิจการตลาดและเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรง จนไม่อาจปฏิเสธได้ด้วยประการทั้งปวง

จากข้อมูลองค์การสหประชาชาติ จัดอันดับประเทศในเอเชียไว้ว่าปี 2030 ญี่ปุ่น จะมีประชากรสูงอายุเป็นอันดับที่ 1 ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ แต่ว่าไทยมีแนวโน้มอัตราการเติบโตเพิ่มอีก 19% กลายเป็น 29% จากจำนวนประชากรทั้งหมด จากเดิมปี 2015 มีประชากรสูงอายุเพียง 10%

ทำให้ “ตลาดผู้สูงอายุของไทย” จึงมีโอกาสเชิงธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตประจำวันที่ลำบากขึ้นด้วยสภาพร่างกาย สภาพที่อยู่อาศัย ความต้องการคนดูแลช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยสามารถแยกกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่มคือ…

-Silver Market คือ กลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ไม่มีภาระและมีฐานะทางการเงิน กลุ่มนี้รักการท่องเที่ยวและเป็นช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินเพื่อซื้อความสุขให้กับตัวเอง

-Senior Spend คือ กลุ่มที่ต้องการซื้อสินค้าเพื่อคนอื่น เพราะต้องการสร้างความสัมพันธ์และความรัก

-Main Target คือ กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ แต่เป็นคนรอบข้างผู้สูงอายุ ที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อให้ผู้สูงอายุ

จากผลงานวิจัยหัวข้อ AWUSO Society 4.0 แก่แต่วัย หัวใจยังเก๋า” โดยนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า จากพฤติกรรมทานอาหารนอกบ้าน ผู้สูงอายุมีการทานอาหารนอกบ้าน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ คิดเป็น 53% เป็นการไปทานอาหารกับครอบครัวหรือนัดพบปะกับเพื่อนที่คุ้นเคย เหตุผลการเลือกร้านกว่า 55% เลือกจากรสชาติอาหารเป็นอันดับแรก โดยไม่สนใจว่าเมนูเพื่อสุขภาพหรือไม่ เพราะมองว่าไม่ได้ทานทุกวัน ไม่น่าจะมีผลต่อสุขภาพ และเลือกร้านประจำที่เคยไป

ส่วนพฤติกรรมการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ชอบท่องเที่ยวแบบกลุ่มสูงถึง 73% โดยเดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัวและเพื่อนฝูง รองลงมาคือชอบไปเที่ยวคนเดียว 21% เพราะชอบอิสระ สามารถตัดสินใจเอง มีเพียง 6% เลือกไปกับทัวร์ เพราะผู้สูงอายุมักไม่ชอบไปกับคนไม่รู้จักและการเที่ยวกับทัวร์มักมีเวลาจำกัด

ขณะที่นักการตลาดประเมินเทคนิคการทำการตลาดเพื่อเอาใจผู้สูงอายุไว้เบื้องต้นคือ 1) การสร้างนวัตกรรมใหม่ให้สินค้าที่เข้ากับการใช้ชีวิตและการบริโภคของผู้สูงอายุ 2) การสร้าง Packaging ที่สะดวกต่อการใช้งาน เช่น การทำตัวอักษรขนาดใหญ่ให้มองเห็นง่ายและเป็นที่จดจำ 3) การจัดโปรโมชั่นพิเศษเพื่อดึงดูดความสนใจเฉพาะลูกค้ากลุ่มนี้

4) การบริการส่งถึงที่ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้ไม่สามารถขนของเองได้ทั้งหมด และติดความเคยชินการสั่งซื้อสินค้าที่สามารถรอรับได้ทันที จึงต้องมีบริการส่งสินค้าถึงที่ด้วยเวลาที่รวดเร็ว 5) การสร้างจุดพักผ่อนตามห้างหรือร้านค้า เพื่อให้ลูกค้ามีพื้นที่พักผ่อน หลังจากการเดินเลือกซื้อสินค้า

เงื่อนไขสำคัญของผู้สูงอายุถือเป็นวัยที่ต้องการการเอาใจใส่ด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมและเศรษฐกิจ มากเป็นพิเศษ เป็นวัยที่มีทั้งเวลาและอำนาจในการซื้อ แต่อาจใช้เวลาการตัดสินใจนาน..จึงดูเหมือนยากต่อการเข้าถึง..ทำให้โจทย์หลักอยู่ที่การเข้าถึง แต่เมื่อใดที่เข้าถึงได้ นั่นคือกลุ่มที่เหนียวแน่นมากสุดเลยทีเดียว..!??

Back to top button