3 โบรกฯเคาะ “ซื้อ” KKP ฟันผลงานครึ่งปีหลังสดใส รับรายได้ค่าฟีดีลยักษ์-ปันผลสูง!

3 โบรกฯเคาะ “ซื้อ” KKP ฟันผลงานครึ่งปีหลังสดใส รับรายได้ค่าฟีดีลยักษ์-ปันผลสูง!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์หุ้นธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP หลังนักวิเคราะห์หลายแห่งกำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น KKP โดยมองว่าผลงานในช่วงครึ่งปีหลังปี 2562 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น คาดปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังรับรู้รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ซึ่งมีดีลอยู่ใน Pipeline อาทิ ดีล IPO หุ้น AWC (Asset World Corporation) และดีลการควบรวม TMB และ TBANK เป็นต้น

โดยพบว่า นักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” KKP ราคาเป้าหมาย 81 บาท/หุ้น มองว่า KKP เป็นหุ้นที่มีปันผลโดดเด่น โดยคาดว่าจะจ่าย 5.10 บาท/หุ้น คิดเป็น div. yield สูงถึง 7.5% ส่วนธุรกิจตลาดทุนที่ทำผ่าน บล. ภัทรน่าจะช่วยทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของ KKP ในไตรมาส 3/62 เพิ่มสูงขึ้น โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันนั้นเพิ่มขึ้น 18.1% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนจากไตรมาส 2/62 ที่มีมูลค่าการซื้อขาย 54 พันล้านบาท/วัน มาเป็น 64 พันล้านบาท/วันในไตรมาสนี้ นอกจากนี้ส่วนแบ่งตลาดค่านายหน้าของ บล.ภัทรยังเพิ่มสูงขึ้นมากด้วย เป็น 10.38% จาก 8.89% ใน ไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ บล. ภัทรนั้นเป็นที่ปรึกษาทางการเงินดีลขนาดใหญ่หลายงานไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาการควบรวมระหว่าง TMB และ TBANK ที่ปรึกษาการเพิ่มทุนของ GPSC และที่ปรึกษา IPO ของหุ้นขนาดใหญ่อย่าง แอสเสท เวิรด์ คอร์ป

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น KKP ประเมินราคาเป้าหมาย 80 บาท/หุ้น คาดธุรกิจสินเชื่อสามารถเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5% เมื่อเทียบจากปีก่อนได้สำเร็จ นำโดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจ นอกจากนี้ KKP มีความน่าสนใจมากกว่าธุรกิจธนาคารอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจหลักทรัพย์มีแนวโน้มเติบโต คิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของกำไรสุทธิ คงประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 6.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบจากปีก่อน

ขณะที่งวดครึ่งปีแรกปี 2562 มีกำไรสุทธิ 2.7 พันล้านบาท คิดเป็น 43% ของกำไรสุทธิรวมทั้งปีที่บล.เอเชีย เวลท์ คาด โดยจุดเด่นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใน KKP คือ อัตราปันผลตอบแทนที่สูงในระดับ 7-8% ต่อปี และค่า PER ที่ต่ำกว่า 10 เท่า ในขณะที่ ROE ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

ทั้งนี้ยอดสินเชื่อช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 อยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน คาดสามารถบรรลุประมาณการเติบโตของสินเชื่อตามที่บล.เอเชีย เวลท์ คาด 5% ได้สำเร็จ นำโดยสินเชื่อเงินกู้เพื่อการพาณิชย์ (Corporate Loan)

ขณะเดียวกันคาดรายได้จากค่าธรรมเนียมจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หนุนจากการรับรู้รายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ (IB) ซึ่งมีดีลอยู่ใน Pipeline อาทิ ดีล IPO หุ้น AWC (Asset World Corporation) และดีลการควบรวม TMB และ TBANK เป็นต้น ส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์ คาดธนาคารจะสามารถจัดการคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ณ สิ้น ไตรมาส 2/62 โดย KKP มีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) อยู่ที่ 4.2% ขณะที่บล.เอเชีย เวลท์ ประมาณการ NPL Ratio ทั้งปี 2562 ไว้ที่ 4.0%

ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานใหม่ IFRS9 คาด KKP ได้รับผลกระทบลบมากกว่าบวก แม้ธนาคารจะมีเงินสำรองส่วนเกินที่สามารถกลับเป็นรายได้ราว 4.5 ล้านบาท แต่คาดว่าการปรับเกณฑ์ขั้นลูกหนี้ใหม่จาก 6 ชั้นเหลือ 3 ชั้น พร้อมทั้งให้ตั้งสำรองชั้น Under Performing เพิ่มจากเดิมที่กันสำรองไว้เพียง 2% เป็นการกันสำรองไว้เต็มจำนวน จะทำให้สำรองส่วนเกินถูกเปลี่ยนไปใช้ในสำหรับสำรองลูกหนี้ชั้น Under Performing แทน

อีกทั้งมองอัตราดอกเบี้ยเข้าสู่แนวโน้มขาลง คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% อีก 1 ครั้งภายในปี 2562 จาก 1.50% สู่ระดับ 1.25% ส่งผลบวกต่อกลุ่มธนาคารที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ อย่าง KKP เนื่องจากได้ประโยชน์จากต้นทุนแหล่งเงินกู้ลดลง (อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว) ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับเป็นแบบคงที่ เราประเมินอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) จะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเราคาด NIM ปี 2562 และปี 2563 อยู่ที่ 4.50% และ 4.76% ตามลำดับ เทียบกับไตรมาส 2/62 ที่ 4%

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น KKP ประเมินราคาเป้าหมาย 77 บาท/หุ้น อิง P/BV ที่ 1.5 เท่า โดยประมาณการกำไรสุทธิในไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบจากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เนื่องจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมที่ทำได้ดี เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบจากปีก่อน และ 29% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน จากดีลการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ GPSC ในการเข้าซื้อ GLOW และการนำหุ้นเข้าตลาดของ DOHOME

ประกอบกับ สินเชื่อที่เติบโตได้ดี เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน หรือเพิ่มขึ้น 4% นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จากสินเชื่อรายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผู้พัฒนาอสังหาฯ แต่จะมีการตั้งสำรองฯที่รวมผลขาดทุนรถยึดเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง โดยคาดว่าจะตั้ง credit cost ที่ 153bps (ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าทั้งปีของธนาคารที่ตั้งไว้ 140bps) จากไตรมาส 2/62 ที่ 96bps

โดยยังคงประมาณการกำไรสุทธิในปี 2562 ที่ 6 พันล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบจากปีก่อน คาดกำไรในไตรมาส 4/62 จะเติบโตได้โดดเด่นจากการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมจากดีล IB จาก IPO หุ้น AWC และการทำดีล ควบรวม TMB กับ TCAP ในส่วนของราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 6% เมื่อเทียบกับ SET เพราะ KKP มีแนวโน้มจะหลุดจาก SET50 ซึ่งคาดว่า ราคาหุ้นน่าจะรับข่าวนี้มาแล้วระดับหนึ่ง ขณะที่ในแง่ของพื้นฐานเรายังชอบ KKP เพราะแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ทำได้เหนือกว่ากลุ่มธนาคารที่เน้นเช่าซื้อในครึ่งหลังปี 2562 รวมถึงยังมี dividend yield อยู่ในระดับสูงราว 6% ซึ่งใกล้เคียงกับ TISCO

ขณะที่ราคาหุ้น KKP วานนี้ (30 ก.ย.) ปิดตลาดที่ระดับ 66 บาท ลบ 0.50 บาท หรือ 0.75% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 116.96 ล้านบาท โดยยังมีอัพไซด์จากราคาเป้าหมายที่ 81 บาท อยู่ 22.72%

Back to top button